Abstract:
กระบวนการบ้านมั่นคงเป็นกระบวนการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมโดยชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนา ในกระบวนการออกแบบบ้านมั่นคง แบบบ้านต้องเหมาะสมกับความสามารถในการจ่ายของครัวเรือนและตอบสนองการใช้พื้นที่ของผู้อยู่อาศัยได้ ดีการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้พื้นที่ภายในบ้านของผู้อยู่อาศัยทั้งบ้านก่อนและหลังกระบวนการบ้านมั่นคง เพื่อนำไปสู่แนวทางในการออกแบบบ้านให้ตอบสนองการใช้พื้นที่ของผู้อยู่อาศัยมากยิ่งขึ้นโดยใช้กรณีศึกษาโครงการบ้านมั่นคงไทยมุสลิมสามัคคี จังหวัดปทุมธานี เพื่อศึกษากระบวนการบ้านมั่นคงและกระบวนการออกแบบบ้านแบบมีส่วนร่วม รูปแบบบ้านมั่นคงและการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ทั้งในบ้านก่อนและหลังกระบวนการบ้านมั่นคง โดยใช้การสัมภาษณ์ของผู้อยู่อาศัยเกี่ยวกับบ้านก่อนกระบวนการบ้านมั่นคงและสำรวจบ้านหลังกระบวนการบ้านมั่นคงจำนวน 32 กรณีศึกษา ผลการศึกษาพบว่า ในกระบวนการออกแบบบ้านมั่นคงมีการเก็บข้อมูลเฉพาะข้อมูลด้านครัวเรือนและศึกษาสภาพทั่วไปของบ้านก่อนกระบวนการบ้านมั่นคง แต่ไม่มีเก็บข้อมูลการใช้พื้นที่ในบ้านก่อนกระบวนการบ้านมั่นคงเพื่อนำมาใช้เป็นนข้อมูลประกอบในกระบวนการออกแบบบ้านมั่นคง เมื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ใน 3 ด้าน คือ 1) ลักษณะครัวเรือน พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงการประกอบอาชีพในพื้นที่บ้านเพิ่มขขึ้น , รายได้ครัวเรือนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในความสามารถในการจ่ายของรายได้ครัวเรือน 2) ลักษณะกายภาพของบ้านมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ (1) พื้นที่ที่มีขนาดเพิ่มขึ้น/เกินความต้องการ ได้แก่ ห้องนอน, พื้นที่อเนกประสงค์, พื้นที่หลังบ้านสำหรับซักผ้า/ตากผ้า/ประกอบอาหาร, (2) พื้นที่ที่มีขนาดลดลง/ขาดหายจากความต้องการ ได้แก่ ห้องน้ำ, พื้นที่หน้าบ้านสำหรับจอดรถ โดยทัศนคติความพึงพอใจต่อขนาดพื้นที่ใช้สอยโดยรวมเพิ่มขึ้นจากระดับพอใช้เป็นดีมาก พึงพอใจมากขึ้นในพื้นที่อเนกประสงค์และห้องนอน ในขณะที่ทัศนคติความพึงพอใจของผู้อยู่อาศัยต่อการออกแบบผังพื้นโดยรวมไม่มีการเปลี่ยนแปลงโดยอยู่ในระดับดี และมีพึงพอใจลดลงในพื้นที่หลังบ้าน, พื้นที่ประกอบอาหาร, พื้นที่หน้าบ้านสำหรับจอดรถและห้องน้ำ (3) การออกแบบพื้นที่ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้พื้นที่ ได้แก่ การเก็บของ, การจอดรถ, การละหมาดและการประกอบอาหาร และ 3) ลักษณะการใช้พื้นที่ พบว่าผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่มีการใช้พื้นที่ในระดับพื้น เช่น การนั่ง, การนอนและการกินบนพื้นบ้านทั้งในบ้านก่อนและหลังกระบวนการบ้านมั่นคง มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่ใช้ ได้แก่ การจอดรถยนต์จากใช้พื้นที่หน้าบ้านเป็นเช่าพื้นที่จอดรถนอกโครงการ , การละหมาดจากเดิมทำที่มัสยิดมาเป็นใช้พื้นที่อเนกประสงค์และห้องนอน และการประกอบอาหารจากใช้พื้นที่ระเบียงเป็นพื้นที่ต่อเติมหลังบ้าน โดยทัศนคติความพึงพอใจต่อการออกแบบพื้นที่ให้เอื้ออำนวยต่อการใช้สอยโดยรวมลดลงจากระดับดีเป็นพอใช้ ความพึงพอใจลดลงในพื้นที่หน้าบ้าน, ห้องน้ำ, หลังบ้านและประกอบอาหารและพบว่าเมื่อบ้านจากกระบวนการบ้านมั่นคงไม่สอดคล้องกับการใช้พื้นที่ผู้อยู่อาศัยจะปรับตัวใน 2 ลักษณะ คือ 1) ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พื้นที่ เช่น ห้องน้ำขนาดลดลงใช้การจัดสรรเวลาการใช้และการเตรียมน้ำสำรอง, ห้องนอนขนาดเพิ่มขึ้นในชั้น 2 จนเกิดที่ว่างใช้สำหรับเก็บของและรีดผ้า / เก็บผ้า / แต่งตัว, พื้นที่ละหมาดไม่ได้มีการจัดเตรียมไว้จึงใช้พื้นที่อเนกประสงค์, เก็บของใช้พื้นที่บริเวณที่สูงเหนือศีรษะ, การใช้พื้นที่ระดับพื้น เช่น นั่งเล่น /พักผ่อน /รับแขก , กินอาหารและนอนจึงทำให้ต้องมีการทำความสะอาดถี่ขึ้น และ 2) ปรับเปลี่ยน/ดัดแปลง/ต่อเติมพื้นที่บ้านจากกระบวนการบ้านมั่นคง เช่น การประกอบอาหาร ต้องการมีลักษณะครัวไฟที่ระบายอากาศ/กลิ่นและแยกออกจากพื้นที่ใช้งานอื่นๆของบ้าน จึงต้องต่อเติมพื้นที่หลังบ้านใช้ร่วมกับการใช้เป็นพื้นที่ซักล้าง/ตากผ้า, ลักษณะบ้านที่ไม่มีชายคาไม่กันแดดลมฝน จึงต้องต่อเติมกันสาดบริเวณระเบียง / ชาน / เฉลียงหน้าบ้าน ซึ่งหากมีการสำรวจการใช้พื้นที่ในบ้านเดิมจะช่วยลดปัญหาความไม่สอดคล้องกับการใช้สอยลงได้มาก จึงมีข้อเสนอแนะต่อกระบวนการออกแบบบ้านมั่นคงว่าควรมีการสำรวจการใช้พื้นที่บ้านก่อนเข้ากระบวนการบ้านมั่นคงอย่างถี่ถ้วนและนำมาใช้พิจารณาในกระบวนการออกแบบบ้านมั่นคงด้วยเพื่อให้บ้านมั่นคงตอบสนองการใช้พื้นที่ของผู้อยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น ลดการต่อเติมพื้นที่ที่ผิดกฎระเบียบ โดยควรสำรวจทั้งด้านครัวเรือน เช่น การประกอบอาชีพ, ศาสนาซึ่งส่งผลต่อการใช้พื้นที่, ขนาดพื้นที่ใช้สอยในแต่ละพื้นที่และการใช้พื้นที่และเครื่องเรือนที่ใช้อยู่จริงซึ่งจะดีกว่าการสอบถามความต้องการจากผู้อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว ซึ่งมักจะไม่ตรงกับการใช้งานจริง โดยการสำรวจการใช้พื้นที่ในบ้านเดิมจะช่วยให้การออกแบบบ้านมั่นคงและบ้านทั่วไปสอดคล้องในความต้องการของผู้อยู่อาศัยมากขึ้น