Abstract:
งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาองค์ประกอบเชิงกายภาพทางการท่องเที่ยวทั้ง 3 ประการ อันประกอบไปด้วย องค์ประกอบด้านสิ่งอำนวยความสะดวก และองค์ประกอบในด้านความสามารถในการเข้าถึงที่มีอิทธิพลต่อการดึงดูดค่าใช้จ่ายและสัดส่วนผู้พักค้าง ซึ่งเป็นพฤติกรรมการท่องเที่ยวตามนิยามของนักท่องเที่ยวคุณภาพ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2565 - พ.ศ.2562) ของทั้ง 55 จังหวัดเมืองรองที่ยังคงประสบปัญหาในด้านความเหลื่อมล้ำจากการกระจุกตัวของทั้งจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวในบางกลุ่มจังหวัด จนก่อให้เกิดปัญหาการเกินขีดความสามารถในการรองรับได้ (Carrying Capacity) ของพื้นที่ที่มีการเข้ามาของนักท่องเที่ยวในปริมาณมากต่อเนื่องไปจนถึงการส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อคุณภาพของทรัพยากรการท่องเที่ยวภายในเมือง จึงนำมาสู่การประเมินถึงความพร้อมของพื้นที่ในการรองรับนักท่องเที่ยวของทุกจังหวัดเมืองรอง ผ่านการวิเคราะห์ชุดข้อมูลองค์ประกอบทางการท่องเที่ยวเชิงกายภาพในแต่ละด้าน รวมไปถึงชุดข้อมูลค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวต่อคนต่อวันและสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่อผู้เยี่ยมเยือนในช่วง 5 ปี โดยใช้วิธีการจัดทำชุดข้อมูลทั้ง 2 ประเภทให้ออกมาในรูปของค่าคะแนนมาตรฐาน (Standard Score) และนำมาจัดกลุ่มตามระดับค่าคะแนนด้วยเทคนิคการแบ่งช่วงชั้นของข้อมูลแบบธรรมชาติ (Natural Breaks) เพื่อประเมินถึงสภาพในปัจจุบันขององค์ประกอบการท่องเที่ยว พร้อมทั้งศักยภาพในการดึงดูดค่าใช้จ่ายและสัดส่วนผู้พักค้างของแต่ละจังหวัดเมืองรอง ซึ่งผลการประเมินทั้ง 2 ชุดข้อมูลนี้จะสามารถนำมาประกอบการทิศทางของแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวให้สามารถเกิดความสมดุลทั้งในฝั่งของนักท่องเที่ยวและฝั่งของพื้นที่เมืองรอง ภายหลังจากการประเมินถึงศักยภาพในปัจจุบันของพื้นที่แล้วนั้น จึงได้ทำการวิเคราะห์ถึงองค์ประกอบเชิงกายภาพทางการท่องเที่ยวทั้ง 3 ด้าน ที่มีอิทธิพลต่อการดึงดูดการใช้จ่ายและการพักค้างของนักท่องเที่ยว โดยจะวิเคราะห์ด้วยวิธีการวิเคราะห์ถดถอยเชิงพหุคูณ (Multiple Regression Analysis) ซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่าองค์ประกอบการท่องเที่ยวในเมืองรองที่มีอิทธิพลต่อการดึงดูดการใช้จ่ายและการพักค้างของนักท่องเที่ยวนั้น จะ ประกอบไปด้วยองค์ประกอบการท่องเที่ยวในด้านสิ่งดึงดูดใจในประเด็นของจำนวนแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และองค์ประกอบในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกในประเด็นจำนวนร้านอาหาร จากผลการวิเคราะห์ดังกล่าวได้นำมาสู่การวางแผนนโยบายในการพัฒนาองค์ประกอบการท่องเที่ยวของแต่ละบริบทเมืองรองในปัจจุบัน ให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะดึงดูดค่าใช้จ่ายและการพักค้างซึ่งเป็นพฤติกรรมการท่องเที่ยวตามนิยามของนักท่องเที่ยวคุณภาพ พร้อมกันนั้นได้มีการจัดทำข้อเสนอแนะสำหรับกระบวนการในการดำเนินงานของภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ให้สามารถดำเนินงานตามแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองรองให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายและการพักค้างได้อย่างสัมฤทธิ์ผล