Abstract:
จังหวัดพัทลุงเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ทั้งเขา ป่า นา และทะเลสาบน้ำจืดที่อุดมสมบูรณ์ ภายใต้ความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของมนุษย์ และธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หรือ ภูมิทัศน์วัฒนธรรม (Cultural Landscape) ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบน้อยและทะเลสาบสงขลาศูนย์กลางอารยธรรมการประมงและเกษตรกรรมลุ่มน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ที่อยู่คู่จังหวัดพัทลุงมาอย่างยาวนาน ในปัจจุบันภูมิทัศน์วัฒนธรรมในพื้นที่ดังกล่าวได้กลายมาเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดพัทลุงที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ และได้สร้างปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงสำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้กับจังหวัดพัทลุงอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประกอบบกับผลของการศึกษาผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในพื้นที่และประเทศได้ชี้ให้เห็นว่าการศึกษาภูมิทัศน์วัฒนธรรมยังมีจำนวนไม่มากนัก โดยเฉพาะผลงานศึกษาที่ว่าด้วยแนวทางการศึกษาและรักษาภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่มุ่งเน้นสร้างความเข้าใจถึงระบบความสัมพันธ์อันก่อเกิดภูมิทัศน์วัฒนธรรมอย่างแท้จริง ด้วยความสำคัญของภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่มีต่อพื้นที่และช่องว่างของการศึกษาดังกล่าว จึงเป็นที่มาให้งานวิจัยฉบับนี้มีเป้าประสงค์หลัก 2 ประการ ประการแรกคือ การสร้างความเข้าใจต่อองค์ประกอบ ระบบความสัมพันธ์ และวิวัฒนาการของภูมิทัศน์วัฒนธรรมและแสวงหาแนวทางการรักษาและรับมืออย่างเหมาะสม ประการที่ 2 คือ การเสนอแนะแนวทางในการศึกษาภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่สอดคล้องบริบทของพื้นที่ศึกษาและเป็นประโยชน์ต่อการนำไปต่อยอดทางการศึกษาและบริหารจัดการสืบไป โดยผลการศึกษาพบว่าปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างทางสังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นและแปรผันตลอดเวลาในสถานการณ์ปัจจุบันได้ส่งผลโดยตรงต่อการคงอยู่ของภูมิทัศน์วัฒนธรรมในจังหวัดพัทลุงและอาจนำมาสู่การสูญเสียภูมิทัศน์วัฒนธรรมในทะเลน้อยและทะเลสาบสงขลาในที่สุด อาทิปรากฎการณ์การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุของสังคมโลกที่ส่งผลต่อสังคมแรงงานในภาคการเกษตรและประมงซึ่งถือเป็นรายได้หลักของจังหวัดพัทลุง การหวนคืนสู่ถิ่นฐานของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาให้ความสำคัญต่ออาชีพการบริการมากกว่าการต่อยอดหรือสืบสานอาชีพและวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของบ้านเกิด เป็นต้น