Abstract:
ในช่วงปลายปี 2563 ถึงปี 2565 เกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 เกิดคลัสเตอร์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่อยู่อาศัยคนงานก่อสร้างในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาก่อสร้างปฏิบัติตามมาตรการการควบคุมโรคของกรมอนามัยกรุงเทพมหานคร แต่เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงทำให้ผู้วิจัยมีความสนใจมุ่งศึกษาแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่อยู่อาศัยสำหรับคนงานก่อสร้าง แต่งานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าการศึกษาอยู่อาศัยคนงานก่อสร้างโดยส่วนใหญ่เป็นด้านกายภาพและลักษณะความเป็นอยู่ของคนงานก่อสร้าง งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขการจัดการพื้นที่อยู่อาศัยและมาตรการรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่อยู่อาศัยของคนงานก่อสร้าง และเสนอแนะแนวทางการพัฒนาและการบริหารจัดการพื้นที่อยู่อาศัยสำหรับคนงานก่อสร้าง ผู้วิจัยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานของภาครัฐ ได้แก่ สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสัมภาษณ์ผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดกลาง-ขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบช่วงโรคโควิด-19 และใช้แนวทางการบริหารจัดการที่อยู่อาศัยสำหรับคนงานตามเกณฑ์ของกรมอนามัยกรุงเทพมหานคร ซึ่งพบว่าผู้ประกอบการบริษัทรับเหมาก่อสร้างทั้ง 3 บริษัทมีการใช้มาตรการ Bubble Protocol สำหรับการบริหารจัดการคนงานและที่พักอาศัย โดยแบ่งได้ดังนี้ 1. ข้อปฏิบัติและมาตรการความร่วมมือของคนงานและการตรวจโรคโควิด-19 ในแคมป์คนงาน 2. การบริหารจัดการคนงานช่วงโรคโควิด-19 3. การจัดการที่พักอาศัย/มาตรฐานที่พักอาศัยคนงานช่วงโควิด-19 สุขอนามัยในแคมป์คนงานและบริเวณโดยรอบ 4. การจัดการระบบอุปโภค-บริโภคในแคมป์คนงาน 5. การจัดการระบบขนส่งคนงานในช่วงโรคโควิด-19