Abstract:
เนื่องจากสถานการณ์ใน พ.ศ.2563- 2564 การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาครัฐจึงมีแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยการจัดทำโครงการอีลิทเฟล็กซิเบิลวัน (Elite Flexible One) งานวิจัยจึงมุ่งศึกษา บริษัทอสังหาริมทรัพย์ไทยที่มีการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ EFO ซึ่งมีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จำนวน 18 บริษัท ได้มีการแบ่งขนาดบริษัท 3 ขนาด ได้แก่ บริษัทขนาดใหญ่ บริษัทขนาดกลาง และบริษัทขนาดเล็ก ใช้การสัมภาษณ์บริษัทขนาดเล็ก 5 บริษัท โดยมีการวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันอย่างเป็นระบบและเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกัน แสดงความสำคัญ ของข้อมูลได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการอีลิทแฟล็คซิเบิลวันเพื่อนำไปสู่ข้อสรุป
จากผลการศึกษาพบว่า 1) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ EFO ด้วยแนวความคิด เพื่อตอบสนองมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เพื่อช่วยสนับสนุนยอดขาย เพื่อขยายฐานลูกค้าชาวต่างชาติ และ เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าวัยใกล้เกษียณตัดสินใจมาใช้ชีวิตในประเทศไทย 2) ลักษณะโครงการที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์นำโครงการเข้าร่วมโครงการ EFO บริษัทขนาดใหญ่และบริษัทขนาดเล็ก โครงการจะอยู่ในทําเลพระรามที่ 4 อโศกมนตรี สุขุมวิท ทองหล่อและเอกมัย และบริษัทขนาดเล็กโครงการอยู่ในทำเลย่านอโศก-พระราม 9 - รัชดาฯ- ห้วยขวาง ระดับราคาคล้ายคลึงกันทั้ง 3 ขนาด คือ Upper Class(100,000-150,000 บาท/ตร.ม.) ขนาดห้องนอน 1-2 ห้องนอนสัดส่วนที่มากที่สุด และปีที่โครงการสร้างแล้วเสร็จ บริษัทขนาดใหญ่ นำเข้าร่วมในปี 2564 บริษัทขนาดกลางและบริษัทขนาดเล็ก นำโครงการในปี 2563 3) การใช้การสื่อสารการตลาดบูรณาการเพื่อช่วยขายโครงการที่เข้าร่วม EFO ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ ได้แก่ บริษัทขนาดใหญ่จะมีการใช้การสื่อสารการตลาดบูรณาการในทุกด้านการตลาดออนไลน์ การประชาสัมพันธ์ และการส่งเสริมการขาย มากกว่าบริษัทขนาดกลาง และบริษัทขนาดเล็ก 4) ผลจากการเข้าร่วมโครงการ EFO ข้อดี ช่วยสนับสนุนยอดขาย และให้ความสะดวกสบายแก่ลูกค้าต่างชาติ ข้อจำกัด ราคา 10 ล้านบาทสูงเกินไป และบัตร EFO ไม่สามารถทำงานในประเทศไทยได้ ข้อเสนอแนะ อนุญาตให้บัตร EFO สามารถทำงานในประเทศไทยได้เนื่องจากกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติเป็นกลุ่มผู้ประกอบการและนักลงทุน รัฐบาลพิจารณาให้วีซ่ายาวขึ้นเป็น 10 ปี และลดราคาการเข้าร่วมโครงการ EFO เดิมจาก 10 ล้านบาท เป็นต้น
งานวิจัยฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า การตัดสินใจเข้าร่วมโครงการอีลิทแฟล็คซิเบิลวันของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ส่วนใหญ่มีแนวคิดเพื่อให้บริษัทเป็นที่รู้จักในกลุ่มลูกค้าต่างประเทศโดยผ่านโครงการของรัฐ ผลการศึกษาจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลในการนำผลไปปรับปรุงมาตรการเพื่อช่วยเหลือธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ต่อไป