Abstract:
สุสานจีนในเขตพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร คือภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนโพ้นทะเลในกรุงเทพมหานครนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อย่างไรก็ตามจากการขยายตัวของเมืองในปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการใช้งานพื้นที่ ทำให้สุสานจีนถูกลดบทบาทความสำคัญลง วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการศึกษาลักษณะทางกายภาพ ประวัติศาสตร์ และสังคมที่เกี่ยวข้องกับภูมิทัศน์สุสานจีนจำนวน 7 แห่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ในเขตบางรัก เขตสาทร และเขตบางคอแหลม ได้แก่ (1) สุสานจีนบาบ๋า (2) สุสานฮกเกี้ยน (3) สุสานจีนแคะ ถนนสีลม (4) สุสานแต้จิ๋ว (5) สุสานจีนแคะ ตรอกจันทน์ (6) สุสานสมาคมเจียงเจ้อ และ (7) สุสานกวางตุ้ง ด้วยวิธีการสืบค้นข้อมูลจากภาคเอกสาร ภาพถ่ายทางอากาศเก่า แผนที่เก่า การลงสำรวจพื้นที่ และการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นข้อมูลในการประเมินคุณค่า ตลอดจนวิเคราะห์ปัญหาและศักยภาพเพื่อเสนอแนะแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาสุสานจีนแต่ละแห่ง
ผลการวิจัยพบว่าสุสานจีนทั้ง 7 แห่งมีคุณค่า ศักยภาพและปัญหาที่แตกต่างกันออกไป สามารถทำการวิเคราะห์และเสนอแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาได้เป็น 3 แนวทาง ได้แก่ (1) อนุรักษ์ในสภาพเดิม เพื่อรักษาเอกลักษณ์และคุณค่าเดิมของพื้นที่ (2) พัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ หรือพื้นที่การเรียนรู้วัฒนธรรมของกลุ่มเชื้อสายจีน และ (3) พัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับชุมชนโดยรอบ โดยควรให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ผังบริเวณเดิม การอนุรักษ์ หรือบูรณะองค์ประกอบหลักที่มีคุณค่าและยังคงมีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง การก่อสร้างอาคารหลักขึ้นใหม่ การฟื้นฟูและการปรับประโยชน์การใช้สอยพื้นที่ว่างในพื้นที่ส่วนกลาง หรืออาคารหลักในส่วนบริการ เพื่อรองรับกิจกรรมทางการศึกษาและสังคมแก่บุคคลทั่วไป การอนุรักษ์และปรับปรุงงานภูมิทัศน์ และการควบคุมทัศนียภาพเมืองโดยรอบ นอกจากนี้ควรส่งเสริมมาตรการจูงใจให้หน่วยงานรัฐและประชาชนโดยรอบตระหนักถึงคุณค่าภูมิทัศน์วัฒนธรรมของสุสานจีน