Abstract:
คุณภาพอากาศ เป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คน ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 และฝุ่นละออง PM2.5 ทำให้ผู้คนหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด แล้วหันมาใช้บริการศูนย์การค้าชุมชนที่เป็นอาคารลักษณะกึ่งเปิดโล่งมากขึ้น ซึ่งผู้คนโดยทั่วไปจะรับรู้ได้ว่าความโปร่งของอาคารช่วยถ่ายเทอากาศได้ดี อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษารายละเอียดในเชิงกายภาพของอาคารที่สัมพันธ์กับปริมาณมลพิษในอากาศ
งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาปัจจัยทางกายภาพของศูนย์การค้าชุมชน ช่องโล่งและลานกึ่งเปิดโล่งของอาคาร กับทิศทางลมประจำ ที่สัมพันธ์กับคุณภาพอากาศ และชี้วัดด้วยมลพิษในอากาศ ผ่านการจำลองอาคารกรณีศึกษาศูนย์การค้าชุมชน 8 อาคารในกรุงเทพมหานคร ด้วยโปรแกรมคำนวณพลศาสตร์ของไหล ทดสอบในสภาวะที่มีฝุ่นละออง PM2.5 ในระดับมาตรฐานเฉลี่ยต่อปีที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีตัวแปรต้นเป็นจำนวนด้านเปิดของอาคารที่เปิดให้อากาศไหลผ่านได้ และขนาดของลานกึ่งเปิดโล่งของอาคาร และมีตัวแปรตามเป็นอัตราส่วนความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 ภายในต่อภายนอก ค่าอายุของอากาศ และอัตราการเปลี่ยนอากาศ จากการจำลองด้วยโปรแกรมพบว่า อาคารที่มีด้านเปิด 4 ด้าน จะมีอัตราส่วนความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ยต่ำที่สุดที่ 0.55 มีค่าอายุของอากาศเฉลี่ยต่ำที่สุดที่ 24.18 วินาที และอัตราการเปลี่ยนอากาศสูงที่สุด 90.38 ACH หมายถึงการมีคุณภาพอากาศที่ดีกว่ารูปแบบอื่น ซึ่งมีอัตราส่วนความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ยใกล้เคียงหรือสูงกว่า 1 นอกจากนี้ขนาดของลานกึ่งเปิดโล่งส่งผลต่อคุณภาพอากาศเช่นกัน โดยพบว่าอาคารที่มีจำนวนด้านเปิดให้อากาศไหลผ่านได้เท่ากัน แต่มีขนาดของลานกึ่งเปิดโล่งที่กว้างกว่า จะทำให้เกิดการสะสมของมลพิษมากกว่า เนื่องจากอากาศเคลื่อนตัวออกจากพื้นที่ได้ช้ากว่า อีกทั้งยังพบปัจจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการไหลของอากาศ คือ การวางแนวของอาคาร และอาคารโดยรอบ ก็ส่งผลต่อการไหลของลมและคุณภาพอากาศเช่นกัน ในงานวิจัยนี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพอากาศมากที่สุดคือ ความพรุนหรือจำนวนด้านเปิดของอาคาร หากอาคารมีความพรุนที่มากจะทำให้ลมสามารถไหลผ่านอาคารได้ดี และไม่เกิดการสะสมของมลพิษ ทั้งหมดนี้นำไปสู่แนวทางการออกแบบอาคารศูนย์การค้าชุมชนเบื้องต้น หรืออาคารที่มีกายภาพกึ่งเปิดโล่งที่คล้ายคลึงกัน