Abstract:
รัฐบาลประกาศนโยบายการพัฒนาเมืองในระดับภูมิภาคตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดให้จังหวัดเชียงใหม่มีการพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ เพื่อขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ชุมชนในย่านเมืองเก่าจังหวัดเชียงใหม่ที่ได้รับการกำหนดให้เป็นย่านนวัตกรรมสร้างสรรค์ มีทั้งสิ้น 26 ชุมชน ผลการประเมินองค์ประกอบความเป็นย่านสร้างสรรค์พบว่า ชุมชนล่ามช้างเป็นชุมชนที่มีสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมอยู่มากและเป็นชุมชนที่มีศักยภาพในการต่อยอดไปสู่การพัฒนาเป็นย่านนวัตกรรมสร้างสรรค์สูงที่สุดด้วย การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินศักยภาพของชุมชนและสร้างแนวทางการพัฒนาชุมชนและที่อยู่อาศัย โดยอาศัยการใช้กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) เพื่อการศึกษาสถานการณ์ทางด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม ความต้องการและทัศนคติของผู้อยู่อาศัย ในการพัฒนาชุมชนและที่อยู่อาศัย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแผนและผังชุมชนและบ้านให้สอดคล้องกับคุณลักษณะการเป็นย่านนวัตกรรมสร้างสรรค์ 4.0 โดยทำการรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจ การวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ 2 ครั้ง และการสัมภาษณ์เชิงลึก 2 ครั้ง
ผลการศึกษาพบว่าชุมชนล่ามช้างเป็นชุมชนที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้สอดคล้องกับการเป็นย่านนวัตกรรมสร้างสรรค์สูง เนื่องจากมีผลการวิเคราะห์ที่สอดคล้องกับคุณลักษณะของการเป็นย่านนวัตกรรมสร้างสรรค์ตามที่ได้ตัวแปรมาจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ โดยมีผลการวิเคราะห์ศักยภาพในระดับชุมชนจากการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 1 พบว่า ชุมชนล่ามช้างมีลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินและอาคารแบบผสมผสาน การมีความหลากหลายของกลุ่มคน มีจุดดึงดูดทางเศรษฐกิจและศูนย์กลางการเป็นแหล่งงานและพื้นที่กิจกรรมที่มีคุณค่าเป็นต้นทุนเดิมของพื้นที่คือตลาดสมเพชรและวัดล่ามช้าง ทั้งนี้ยังมีความสามารถในการบริหารจัดการชุมชนสูง เนื่องจากมีการจัดการประชุมกลุ่มย่อยร่วมกันอยู่บ่อยครั้ง มีการรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบการ เกสต์เฮ้าส์ ธุรกิจบริการการท่องเที่ยวและชาวชุมชนในละแวกใกล้เคียง เพื่อศึกษาแลกเปลี่ยนและแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยร่วมกัน รวมถึงมีการตกลงการจัดทำมาตรฐานการท่องเที่ยวและการวางผังจัดระเบียบภายในชุมชน ทำให้ชุมชนล่ามช้างมีความเข้มแข็งและมีความร่วมมือกันสูง เนื่องจากมีการบริหารจัดการผ่านองค์กรชุมชน ภายในชุมชนมีธุรกิจที่สามารถเชื่อมโยงเป็นระบบเครือข่ายธุรกิจชุมชนได้ โดยผู้วิจัยได้มีการเสนอแผนและผังชุมชนเพื่อไปสู่การเป็นย่านนวัตกรรมสร้างสรรค์ 4.0 ในด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นรากฐานเดิม ด้วยการกำหนดแกนการพัฒนาถนน 2 ประเภทคือถนนค้าขายตามบ้านและถนนอยู่สบาย รวมถึงได้ทำการจัดทำแผนธุรกิจชุมชน เพื่อเป็นแนวทางการสร้างโครงข่ายทางธุรกิจในชุมชนและการพัฒนาความเชื่อมโยงธุรกิจด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงจัดทำแนวทางการควบคุมการออกแบบและกิจกรรมตามแกนถนนให้เป็นกรอบในการพัฒนาในระดับบ้าน โดยทำการคัดเลือกบ้านกรณีศึกษา 6 หลัง ซึ่งแบ่งกลุ่มตามลักษณะโครงสร้างและการใช้งานได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.บ้านเดี่ยวโครงสร้างไม้สำหรับทำธุรกิจ ร้านค้า ร้านอาหาร 2.บ้านเดี่ยวโครงสร้างไม้กึ่งปูนสำหรับเป็นที่พักรองรับนักท่องเที่ยว 3.ตึกแถวโครงสร้างปูนสำหรับเป็นร้านอาหารและเครื่องดื่มหรือสำนักงาน เพื่อนำมาสู่การวิเคราะห์ในระดับบ้าน
ผลการศึกษาแนวทางการพัฒนาระดับบ้านจากการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 2 พบว่า ชุมชนประกอบไปด้วยบ้านที่มีการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวร้อยละ 60 และเป็นที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียวร้อยละ 40 โดยส่วนใหญ่มีการดัดแปลงบ้านของตนเองเป็นพื้นที่ในการประกอบกิจกรรมทางธุรกิจ และปรับเปลี่ยนให้เป็นที่พักอาศัยรองรับนักท่องเที่ยว ผู้อยู่อาศัยมีความรู้เฉพาะในครัวเรือนที่หลากหลาย ทำให้มีศักยภาพในการพัฒนาสูง แต่ยังขาดการเปิดกิจกรรมในพื้นที่บ้านให้เชื่อมโยงเข้าสู่พื้นที่ชุมชน เพื่อให้ส่งเสริมการทำธุรกิจและกิจกรรมการค้าที่เป็นรายได้หลักของครัวเรือน ผู้วิจัยจึงได้ทำการเสนอแผนและผังแนวทางการปรับปรุงที่อยู่อาศัยที่เสนอให้บ้านมีการพัฒนาด้วยการแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน และการปรับปรุงพื้นที่การใช้งานภายนอกบ้าน โดยใช้แนวคิดการปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยประกอบกับการคำนวณค่าใช้จ่ายในการลงทุนเบื้องต้นในการปรับปรุงแต่ละส่วนของตัวบ้าน ทั้งนี้พบว่าค่าดำเนินการปรับปรุงบ้านในส่วนต่าง ๆ มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าความสามารถในการจ่ายของผู้อยู่อาศัย จึงมีการเสนอกระบวนการระดมทุนแบบกองทุน กลุ่มสหกรณ์ และการรับบริจาค รวมถึงการสร้างกลไกข้อตกลงระหว่างบ้านเพื่อของบสนับสนุนจากท้องถิ่น มุ่งเน้นให้เกิดความร่วมมือระดับชุมชนกับเครือข่ายหน่วยงานรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาให้เป็นโครงข่ายระดับเมือง ด้วยการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ การสร้างหลักสูตรและกิจกรรมเป็นตัวเชื่อมโยงให้เกิดเป็นย่านนวัตกรรมสร้างสรรค์ 4.0 ในอนาคต