Abstract:
การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอขั้นตอนของกระบวนการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัลในประเทศไทย กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนปัญหาและอุปสรรค เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายในการปรับปรุงกฎหมายและพัฒนากระบวนการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐาน โดยเนื้อหาเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของพยานหลักฐานดิจิทัล กระบวนการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัล ประเด็นปัญหาและอุปสรรคจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ข้อเสนอเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพจากเอกสาร การลงพื้นที่สัมภาษณ์เชิงลึกและกรณีศึกษา จากการศึกษาพบว่า กระบวนการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัลในประเทศไทย 4 ขั้นตอน มีปัญหาและอุปสรรค คือ 1) การรวบรวมพยานหลักฐาน มีปัญหาในการรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ขณะเกิดเหตุโดยไม่ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข 2) การเก็บรักษาพยานหลักฐาน ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการจัดเก็บ และการจัดการพยานหลักฐานดิจิทัล 3) การวิเคราะห์พยานหลักฐานดิจิทัล บุคลากรบางส่วนขาดความเชี่ยวชาญที่จำเป็นเฉพาะด้าน 4) การนำเสนอผลพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัล มีการโต้แย้ง หรือขาดน้ำหนักในการรับฟังในชั้นพิจารณาคดี ข้อเสนอแนะจากการศึกษาครั้งนี้ คือ ควรมีการปรับปรุงพัฒนากระบวนการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัลในประเทศไทยให้มีมาตรฐานการปฏิบัติที่ชัดเจนในทั้ง 4 ขั้นตอนให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล บุคลากรควรได้รับการอบรมเพิ่มเติมในประเด็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อช่วยลดปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงาน มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสภาวิชาชีพนิติวิทยาศาสตร์ และจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแล โดยเริ่มต้นจากการส่งเสริมบทบาทของศูนย์ดิจิทัลฟอเรนสิกส์ที่มีอยู่เดิม เพื่อให้การป้องกันปราบปรามอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การวิจัยนี้ ได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาจากทุนการศึกษาหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต “100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (The 100th Anniversary Chulalongkorn University Fund for Doctoral Scholarship) และทุน 90 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช [The 90th Anniversary of Chulalongkorn University Fund (Ratchadaphiseksomphot Endowment Fund)]