Abstract:
อุทกภัยปี 2563 ในจังหวัดนครศรีธรรมราชสร้างความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมาก สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราชร่วมมือกับองค์การสาธารณกุศล เพื่อกระจายความช่วยเหลือให้ผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว จากการวิจัยพบว่าปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จระหว่างองค์กรภาครัฐและองค์การสาธารณกุศลในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย: กรณีศึกษาอุทกภัย จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ ปัจจัยผู้นำ ที่มีความเข้าใจในงาน มีความเด็ดขาดช่วยแก้ไขปัญหา และใส่ใจในผู้ปฏิบัติงาน, ปัจจัยวัตถุประสงค์ของแต่ละองค์การที่ชัดเจนและสอดคล้องกัน และปัจจัยอำนาจตัดสินใจในการปฏิบัติงาน ทำให้ผู้ปฏิบัติงานปฏิบัติงานได้รวดเร็วและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันที ส่วนปัจจัยที่เป็นปัญหาและอุปสรรคของความร่วมมือฯ ได้แก่ ปัจจัยการติดต่อสื่อสารและประสานงาน ที่ยังมีความยากลำบากและความยุ่งยากในความร่วมมือ, ปัจจัยความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปฏิบัติงานซึ่งแตกต่างกัน ทำให้การปฏิบัติงานเกิดความติดขัด, ปัจจัยทรัพยากรในการปฏิบัติงาน ทั้งงบประมาณ บุคลากร และอุปกรณ์กู้ภัยยังไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน และปัจจัยการแสวงหาผลประโยชน์และการแทรกแซงการปฏิบัติงานจากบุคคลภายนอก นำไปสู่การลาออกของผู้ปฏิบัติงาน ผู้วิจัยได้นำเสนอตัวแบบสานพลังจัดการสาธารณภัยเพื่อปรับปรุงและพัฒนาความร่วมมือของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราชกับองค์การสาธารณกุศลในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมีกระบวนการความร่วมมือเป็น 3 ระยะ ตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย