Abstract:
อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมที่นำรายได้มหาศาลเข้าสู่ประเทศมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างแรงงานที่สูง โดยเฉพาะในสาขาการผลิตขั้นปลาย คือ การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ฉะนั้นอุตสาหกรรมสิ่งทอจึงถูกจัดให้เป็น 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้การสนับสนุนโดยได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 7 โครงการวิจัย "ความต้องการกำลังคนภาคอุตสาหกรรม : ศึกษากรณีอุตสาหกรรมสิ่งทอ" ได้ทำการศึกษารูปแบบการจ้างงานและลักษณะของกำลังคนที่ต้องการ รวมทั้งวิเคราะห์ให้เห็นสภาพของปัญหาด้านแรงงานในระดับสถานประกอบการ ผลจากการวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่าปัญหาด้านแรงงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปประกอบด้วย 1) ปัญหาการขาดแคลนแรงงานประเภทกึ่งฝีมือ ได่แก่ พนักงานเย็บผ้าซึ่งหายากในช่วงฤดูกาลเกษตร 2)ปัญหาขาดประสบการณ์ของแรงงานระดับการผลิต และ 3) ปัญหาการเข้า-ออกของแรงงานมีสูงทำให้แรงงานขาดการเรียนรู้ทักษะเฉพาะด้านอย่างต่อเนื่อง นอกจากสภาพปัญหาที่กล่างมายังพบว่า การจ้างงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปยังขาดเสถียรภาพ กล่าวคือ ลูกจ้างในระดับการผลิตจะได้รับค่าจ้างเป็นรายวันหรือรายชิ้น ส่วนลูกจ้างหรือพนักงานประจำสำนักงานและลูกจ้างที่มีฝีมือประเภทช่าง วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ จะมีการจ้างงานที่มั่นคงกว่า จากการศึกษาพบว่าผู้ประกอบการในกิจการเสื้อผ้าสำเร็จรูปยังให้ความสำคัญต่อการจัดการแรงงาน เช่น มีการรับคนงานโดยขาดการคัดเลือก ขาดการฝึกอบรมแก่พนักงาน / คนงานระดับการผลิต ทั้ง ๆ ที่การพัฒนาฝีมือของแรงงานประเภทกึ่งฝีมือหรือไร้ฝีมือเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่แรงงานในกลุ่มดังกล่าวควรที่จะได้เรียนรู้และได้รับ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเข้า-ออกของแรงงานกึ่งฝีมือถือว่าเป็นปัญหาหลักของอุตสาหกรรมนี้ เพราะพฤติกรรมดังกล่าวทำให้แรงงานไม่สามารถสั่งสมความรู้และสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านได้อย่างลึกซึ้ง ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีแนวโน้มที่เน้นความต้องการแรงงานฝ่ายผลิตที่มีคุณภาพและมีทักษะเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันบางกิจการได้เริ่มเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาให้เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตให้มีความสามารถในการแข่งขัน ข้อเสนอแนะจากการศึกษา คือ ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มากกว่าที่ผ่านมา โดยสนับสนุนและลงทุนด้านการฝึกอบรมทั้งในรูปของการฝึกอบรมในกิจการ (on-the-job training) และการฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น (Short-term training) ให้แก่แรงงานไร้ฝีมือและกึ่งฝีมือในระดับการผลิต นอกจากนี้ควรมีการปรับปรุงและจัดการด้านค่าจ้าง ค่าตอบแทน และผลประโยชน์อื่น ๆ ของแรงงาน ตลอดจนเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ชอบธรรมเพื่อลดอัตราการบ้ายเข้า-ออกของแรงงาน ส่วนหน่วยงานของภาครัฐควรร่วมมือกับภาคเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศเพื่อขยายและจัดตั้งสถาบันฝึกอบรม รวมทั้งเข้าแทรกแซงหากจำเป็น เช่น เมื่อมีการปรับอัตราค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นแต่ยังมีแรงงานด้อยคุณภาพอยู่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมควรเข้าไปดำเนินการฝึกอบรมในอาชีพและความชำนาญนั้น ๆ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์-อุปทานตลาดแรงงาน นอกจากนี้ ภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารด้านการตลาดมีความสำคัญและจำเป็น หน่วยงานภาครัฐจึงควรเน้นการสร้างระบบข่าวสารข้อมูลแรงงานในสาขาอาชีพต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับผู้ที่ประสงค์จะทำงาน