Abstract:
งานวิจัย บทบาทของผีไทยในสังคมเมืองร่วมสมัยในนวนิยายชุด ผีมหานคร วัตถุประสงค์ในการวิจัยคือ เพื่อศึกษาศึกษาการปรับเปลี่ยนของผีไทยในคติความเชื่อพื้นบ้านและคติทางพระพุทธศาสนามาสู่สังคมเมืองร่วมสมัย ซึ่งในที่นี้คือกรุงเทพมหานคร และศึกษาสภาพของสังคมเมืองร่วมสมัย ตลอดจนประสบการณ์ สภาวะ อารมณ์ความรู้สึกของคนเมืองในนวนิยายออร์บันกอทิกชุด ผีมหานคร จำนวน 4 เล่ม อันประกอบไปด้วย กระสือ ของ RabbitRose กระหัง ของ ทวิวัฒน์ ปอป ของ ธุวัฒธรรพ์ และ เปรต ของ ปราปต์ จากการศึกษาพบว่า แม้สังคมจะมีการพัฒนามาเป็นสังคมเมืองร่วมสมัยด้วยอิทธิพลจากความเป็นสมัยใหม่ แต่ความเชื่อเรื่องผีที่เป็นความเชื่อดั้งเดิมก็ไม่เคยหายไปจากสังคมไทย ทั้งนี้เนื่องจากผีเป็นผลผลิตของสังคมแต่ละสมัย ดังนั้น ผีไทยทั้ง 4 ชนิดคือกระสือ กระหัง ปอป และ เปรตจึงมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับบริบทของสังคมเมืองร่วมสมัยโดยรับอิทธิพลจากการพัฒนาตามแบบสมัยใหม่และแนวคิดแบบสมัยใหม่ อาทิ ทุนนิยม บริโภคนิยม ปัจเจกนิยม ความเป็นเมือง เป็นต้น ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนของผีแต่ละชนิดยังคงมีรากฐานมาจากคติความเชื่อพื้นบ้านและคติทางพระพุทธศาสนาจึงยังคงเห็นร่องรอยเดิมของผีแต่ละชนิด การปรากฏของผีไทยในสังคมเมืองร่วมสมัยเป็นการมาเผยให้เห็นอีกด้านหนึ่งของสังคมเมืองร่วมสมัยที่เต็มไปด้วยความผิดปกติ ความรุนแรง ความเสื่อมโทรมถดถอยที่ถูกปกปิดด้วยความเป็นปกติจากกฎเกณฑ์ของสังคมเมือง และยังนำเสนอให้เห็นประสบการณ์ อารมณ์ความรู้สึกของคนเมืองในการใช้ชีวิตภายใต้กฎเกณฑ์ของสังคมเมืองที่ไม่อาจถ่ายทอดด้วยคำพูดหรือวิธีการตามปกติได้จึงต้องอาศัยผีที่เป็นสิ่งเหนือธรรมชาติในการช่วยถ่ายทอดประสบการณ์ อารมณ์ความรู้สึกดังกล่าว