Abstract:
จุดประสงค์หลักของการรักษาคลองรากฟัน คือการกำจัดเชื้อแบคทีเรียภายในคลองรากฟันและป้องกันการติดเชื้อซ้ำ ลักษณะน้ำยาล้างคลองรากฟันที่ต้องการ คือ สามารถทำลายเชื้อโรคได้ดีและไม่ทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อรอบปลายรากฟันหากมีน้ำยาเกินออกนอกปลายราก น้ำยาคลอเฮกซิดีนเป็นน้ำยาที่ปัจจุบันแนะนำให้ใช้เป็นน้ำยาล้างคลองรากฟัน เพราะจากการศึกษาที่ผ่านมาได้แสดงถึงคุณสมบัติในการต้านเชื้อจุลชีพแบบกว้างและสามารถออกฤทธิ์ต้านเชื้ออยู่ได้นาน รวมทั้งมีความเป็นพิษน้อย แต่ปัจจุบันยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าควรใช้น้ำยาคลอเฮกซิดีนความเข้มข้นใดในการล้างคลองรากฟัน ดังนั้นวัตถุประสงค์ในการศึกษาครั้งนี้เพื่อทดสอบการต้านจุลชีพของน้ำยาล้างคลองรากฟันคลอเฮกซิดีนความเข้มข้น 0.12%, 0.2%, 2% และโซเดียมไฮโปคลอไรต์ 2.5% กับเวลาที่น้ำยาสัมผัสในคลองรากฟันต่างกัน การทดสอบทำโดยเพาะเลี้ยงเชื้อ Enterococcus faecalis,Actinomyces viscosus และ Streptococcus mutans ในคลองรากฟันจำนวน 156 ซี่ ฟันถูกนำมาแบ่งล้างคลองรากฟันตามชนิดน้ำยาที่ทดสอบคือ กลุ่ม 1, 2, และ 3 ล้างด้วยน้ำยาคลอเฮกซิดีน 0.12%, และ 0.2% และ 2% ตามลำดับ กลุ่ม 4 ล้างด้วยน้ำยาโซเดียมไฮโปคลอไรต์ 2.5% กลุ่ม 5 ล้างน้ำกลั่น (กลุ่มควบคุมบวก) กลุ่ม 6 ไม่เพาะเชื้อในคลองรากฟันและล้างด้วยน้ำกลั่น (กลุ่มควบคุมลบ) การล้างคลองรากฟัน แต่ละกลุ่มจะให้น้ำยาสัมผัสในคลองรากฟันนาน 10, 30 วินาที 1 และ 5 นาที ทำการประเมินปริมาณเชื้อก่อนและหลังล้างคลองรากฟันโดยการใช้กระดาษซับในคลองรากฟัน นำข้อมูลที่ได้วิเคราะห์สถิติ One-Way ANOVA ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ผลการทดสอบพบว่า น้ำยาล้างคลองรากฟันทุกชนิดที่ทดสอบสามารถต้านต่อเชื้อแบคทีเรียที่ทดสอบได้ โดยไม่พบความแตกต่างระหว่างน้ำยาคลอเฮกซิดีน 0.12% และน้ำยาล้างคลองรากฟันชนิดอื่นที่ทดสอบอย่างมีนัยสำคัญ (P>0.05) เมื่อน้ำยาสัมผัสในคลองรากฟันนาน 1 นาทีในการกำจัดเชื้อ A. viscosus และ S. mutans และนาน 5 นาทีในการกำจัดเชื้อ E. faecalisc จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าน้ำยาคลอเฮกซิดีนทกความเข้มข้น รวมทั้งน้ำยาโซเดียมไฮโปคลอไรต์ 2.5% สามารถต้านจุลขีพได้ โดยขึ้นอยู่กับ ความเข้มข้น เวลาที่น้ำยาสัมผัสในคลองรากฟัน และชนิดของเชื้อแบคทีเรีย