Abstract:
การศึกษาการปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวอินโดนีเซียที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สองกับชาวไทยน่าจะมีส่วนช่วยลดปัญหาการสื่อสารระหว่างกัน อีกทั้งในกรณีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวอินโดนีเซียที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สองกับชาวไทยนั้นก็ยังไม่มีงานวิจัยใดศึกษามาก่อน งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบกลวิธีที่ชาวอินโดนีเซียที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สองกับชาวไทยใช้ในการแสดงวัจนกรรมการสัญญา การขอ และการถามข้อมูลส่วนตัวตามแนววัจนปฏิบัติศาสตร์อันตรภาษา และเพื่อศึกษาปัญหาและข้อคำนึงที่เป็นเหตุจูงใจในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันตามแนววัจนปฏิบัติศาสตร์ระหว่างวัฒนธรรม งานวิจัยนี้มีผู้ให้ข้อมูลรวมทั้งหมด 163 คน โดยเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามแบบเติมเต็มและจากการสัมภาษณ์เชิงลึก
ผลการวิจัยตามแนววัจนปฏิบัติศาสตร์อันตรภาษาพบว่า วัจนกรรมการขอและวัจนกรรมการถามข้อมูลส่วนตัวเป็น
วัจนกรรมที่ค่อนข้างมีปัญหาระหว่างชาวอินโดนีเซียที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สองกับชาวไทย เพราะผู้ให้ข้อมูลทั้งสองกลุ่มมีเหตุผลเบื้องหลังต่างกัน จึงทำให้มีพฤติกรรมทางภาษาที่แตกต่างกันด้วย ส่วนวัจนกรรมการสัญญาแม้ว่าจะมีลักษณะปัญหาจากกลวิธีทางภาษาที่ค่อนข้างสร้างความสับสนให้แก่คู่สนทนา แต่ก็มีปัญหาน้อยกว่าวัจนกรรมการขอและวัจนกรรมการถามข้อมูลส่วนตัว
ส่วนผลการวิจัยตามแนววัจนปฏิบัติศาสตร์ระหว่างวัฒนธรรมพบว่า ลักษณะปัญหาในการปฏิสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายมี 3 ลักษณะ ได้แก่ ปัญหาในการปฏิสัมพันธ์ที่เกิดจากบรรทัดฐานในการปฏิสัมพันธ์ที่ต่างกัน ปัญหาในการปฏิสัมพันธ์ที่เกิดจาก
การตีความเจตนาของถ้อยคำผิด และปัญหาในการปฏิสัมพันธ์ที่เกิดจากการเข้าใจความหมายของคำไม่ตรงกัน ทั้งสองฝ่ายต่างมี
การจัดการความสัมพันธ์แตกต่างกัน ชาวอินโดนีเซียที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สองมุ่งคำนึงถึงการจัดการกับสิทธิทางสังคม โดยเฉพาะ “สิทธิด้านความเกี่ยวข้อง” ขณะที่ชาวไทยมักคำนึงถึงการจัดการกับหน้า โดยเฉพาะ “หน้าเชิงคุณภาพ” เพื่อรักษาความสัมพันธ์ในการปฏิสัมพันธ์ ปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมอินโดนีเซียที่มีบทบาทต่อการปฏิสัมพันธ์ ได้แก่ ศาสนาอิสลาม ปัญจศิลา และความละอาย ส่วนปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมไทยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ “หน้า” ความเกรงใจ และน้ำใจ