Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มุ่งศึกษากลวิธีการปรุงบทละครเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนของกรมศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ. 2492-ปัจจุบัน(พ.ศ. 2562) จำนวน 59 สำนวน และศึกษาคุณค่าของบทละครดังกล่าว โดยบทละครเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนที่นำมาศึกษา จำแนกได้ตามรูปแบบการแสดงเป็น 2 ประเภท ได้แก่ บทละครเสภา 33 สำนวน และบทเสภากึ่งพันทาง 26 สำนวน
ผลการศึกษาพบกลวิธีการปรุงบทละครเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนของกรมศิลปากร 3 ประการ ประการแรกคือ การปรุงเรื่อง เป็นการเลือก
เนื้อเรื่องจากบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ และบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ภาคปลาย มาสร้างเป็นบทละครตอนต่าง ๆ บทละครแต่ละตอนสร้างขึ้นจากปมขัดแย้งของตัวละคร ความสัมพันธ์รักของตัวละคร บทบาทเด่นของตัวละครเอก อนุภาคที่โดดเด่น และตัวละครต่างเชื้อชาติซึ่งทำให้เกิดกระบวนแสดงแบบพันทาง บทละครกลุ่มนี้ยังดัดแปลงเหตุการณ์ และตัวละครจากเรื่องขุนช้างขุนแผนดั้งเดิม เพื่อให้มีเนื้อหากระชับ เข้าใจง่าย และเหมาะแก่การแสดงละคร อีกทั้งสืบทอดเนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีไทยแทรกไว้ในบทละคร ประการที่สอง คือ การปรุงภาษาและกลวิธีการประพันธ์ บทละครเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนของกรมศิลปากรเรียบเรียงภาษาและกลวิธีการประพันธ์จากบทประพันธ์ซึ่งมีที่มาจากวรรณคดีโบราณเรื่องขุนช้างขุนแผน ได้แก่
บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน และบทละครเรื่องขุนช้างขุนแผนสำนวนโบราณ ควบคู่กับบทที่กรมศิลปากรแต่งใหม่ ซึ่งจำแนกได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบทละครที่ปรับมาจากบทเสภา กลุ่มบทละครที่ปรับใช้บทเสภาผสานกับบทที่กรมศิลปากรแต่งขึ้นใหม่ และกลุ่มบทละครที่ปรับบทเสภาและบทละครสำนวนเก่าผสานกับบทที่กรมศิลปากรแต่งขึ้นใหม่ และประการที่สาม คือ การปรุงวิธีการนำเสนอ เป็นการกำหนดการนำเสนอด้วยองค์ประกอบทางการแสดงไว้ในบทละคร ได้แก่
การบรรจุเพลงร้อง เพลงหน้าพาทย์ และเพลงบรรเลง ให้เหมาะแก่บทละครเสภาและบทละครเสภากึ่งพันทาง การกำหนดบทขับเสภาแทรกในบทละคร
ทั้งเสภาไทยและเสภาภาษาตามเชื้อชาติของตัวละคร การกำหนดเจรจาซึ่งมีทั้งเจรจาด้น และการกำหนดบทเจรจาร้อยแก้วและร้อยกรองไว้ในบท การแทรกบทที่เอื้ือต่อการแสดงนาฏการที่งดงาม การแบ่งองก์และแบ่งฉาก รวมถึงการแทรกข้อความกำกับวิธีแสดง อันทำให้บทละครมีองค์ประกอบสมบูรณ์ตามขนบละครเสภา
การปรุงบทละครเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนของกรมศิลปากรแสดงให้เห็นการสืบสานองค์ความรู้ด้านวรรณคดี นาฏศิลป์ ดนตรี และ
การขับเสภาไว้ในบทละคร ผสานกับการสร้างสรรค์กระบวนแสดงและองค์ประกอบใหม่ ทำให้บทละครเป็นบทที่ใช้แสดงละครเสภาให้สอดคล้องกับขนบของการแสดง และเสนอเรื่องขุนช้างขุนแผนแก่ผู้ชมอย่างเหมาะสมกับยุคสมัย
กลวิธีการปรุงบททั้ง 3 ด้านข้างต้น ทำให้บทละครเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนของกรมศิลปากรมีคุณค่า 5 ประการ ได้แก่ คุณค่าด้านวรรณคดี บทละครรักษาเนื้อหาเรื่องขุนช้างขุนแผนไว้เป็นจำนวนมาก สืบทอดฉันทลักษณ์กลอนอย่างหลากหลาย รักษาวรรคทองจากบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน
ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ รวมถึงแสดงศิลปะการประพันธ์อย่างงดงาม คุณค่าด้านการแสดง บทละครมีองค์ประกอบตามขนบละครเสภา บทละครประกอบด้วยกระบวนแสดงอย่างหลากหลาย บทละครมีองค์ประกอบสมบูรณ์พร้อมแก่การแสดง มีเนื้อหาหลากหลายให้เลือกแสดง รวมถึงมีบทหลายตอนและหลายสำนวนให้ใช้แสดงตามวาระโอกาส คุณค่าด้านการให้คติในการดำเนินชีวิต บทละครเสนอเนื้อหาที่ให้คติหลายประการ เช่น คติเรื่องการปฏิบัติตนตามหน้าที่ และคติเรื่องความแค้นที่นำไปสู่หายนะ คุณค่าด้านการบันทึกและนำเสนอวัฒนธรรมไทยโบราณ เช่น ประเพณีและพิธีกรรม หรือข้าวของเครื่องใช้ ที่มุ่งให้ปรากฏในการแสดง นอกจากนี้ยังมีคุณค่าในการแสดงให้เห็นคุณค่าอมตะของเรื่องขุนช้างขุนแผนในฐานะวรรณคดีเอกของไทย กล่าวคือ บทละครแสดงให้เห็นเนื้อหาที่ดีเด่นของเรื่องขุนช้างขุนแผนหลากมิติ เช่น เหตุการณ์ที่สนุกสนาน ตัวละครที่มีบทบาทแตกต่างกัน อนุภาคที่เป็นเอกลักษณ์ วรรคทองจาก
บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณที่ยังคงคุณค่าทางภาษาจนเป็นที่ประจักษ์ตลอดมา ตลอดจนสาระของเรื่องขุนช้างขุนแผนที่ยังคงสัมพันธ์กับวิถีวัฒนธรรมไทยในปัจจุบัน