Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีจุดมุ่งหมายในการศึกษาการถ่ายทอดความทรงจำบาดแผลเหตุการณ์ 228 และไวต์ เทอร์เรอร์ของไต้หวันในกลุ่มตัวบทคัดสรร โดยมุ่งสำรวจให้เห็นบทบาทของบาดแผลที่เชื่อมร้อยคนระหว่างรุ่นเข้าด้วยกัน การจัดการกับอดีตที่ยังตามมาหลอกหลอนของผู้ที่เจ็บปวดจากความทรงจำบาดแผล และการปรับใช้อดีตเพื่อนิยามความเป็นไต้หวัน กลุ่มตัวบทคัดสรรดังกล่าวได้แก่ The Lost Garden (1991) ของ หลี่ อัง (Li Ang) ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในปีค.ศ.2015 The Third Son (2013) ของ จูลี่ หวู่ (Julie Wu) The 228 Legacy (2013) ของ เจนนิเฟอร์ เจ. โชว์ (Jennifer J. Chow) Green Island (2016) ของชอว์นา หยาง ไรอัน (Shawna Yang Ryan) และสื่อวิดีโอเกมสยองขวัญ Detention (2017) ของ เรด แคนเดิล เกมส์ (Red Candle Games) จากการศึกษากลุ่มตัวบทคัดสรรพบว่า ความทรงจำบาดแผลนั้นมิได้ทำให้ตัวตนหยุดนิ่งอยู่กับบาดแผล หากแต่ยังเปี่ยมล้นด้วยพลังสร้างสรรค์ แม้ผู้ประสบเหตุความทรงจำบาดแผลจะชะงักค้างติดอยู่ในอดีต แต่ก็ยังสามารถเปลี่ยนแปรประสบการณ์ความทรงจำบาดแผลไปสู่เรื่องเล่าอื่นใดได้หลากหลายรูปแบบ ดังนั้นเหตุการณ์ 228 และไวต์ เทอร์เรอร์ของไต้หวัน ในฐานะเหตุการณ์ความทรงจำบาดแผลจึงสามารถปรากฎในเรื่องเล่าหลากรูปแบบได้ เช่น นวนิยายโรแมนติคพาฝัน วิดีโอเกมสยองขวัญ นวนิยายก่อรูปอัตลักษณ์ นวนิยายชีวิตครอบครัวระหว่างรุ่น และนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ รูปแบบของเรื่องเล่าต่างๆดังเผยแสดงในตัวบทคัดสรรดังกล่าวสามารถทำให้ผู้อ่านเข้าใจอดีตที่ยังคงหลอกหลอนไต้หวัน ตลอดจนวิธีการที่อัตลักษณ์ความเป็นไต้หวันก่อรูปปรากฎขึ้นมาจากประวัติศาสตร์อันหลอกหลอนนี้