Abstract:
วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้ คือ การศึกษาผลของบรรยากาศการอบอ่อนแบบกะในบรรยากาศปกติ ไฮโดรเจน และไนโตรเจน ที่อุณหภูมิ 850°C เป็นเวลา 20, 25 และ 30 ชั่วโมง ต่อการเกิดออกไซด์ และการกัดกรดของเหล็กกล้าไร้สนิมเฟร์ไรต์รีดร้อนเกรด 430 ใช้เทคนิค Grazing incidence x-ray diffraction (GIXRD) และ energy dispersive X-ray (EDX) ในการตรวจสอบชนิดของสเกลออกไซด์ที่เกิดขึ้นที่ผิวชิ้นงาน ใช้กล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงตรวจสอบความหนาของขั้นออกไซด์ ใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดศึกษาลักษณะออกไซด์ ใช้โปรแกรมวิเคราะห์ภาพ PANASIS ในการวิเคราะห์ปริมาณสเกลออกไซด์เหลือค้างที่ผิว ผลวิเคราะห์ด้วยเทคนิค GIXRD และ EDX พบสเกลออกไซด์ชั้นนอกที่เป็นรูพรุนชนิด Fe3O4 และออกไซด์ชั้นในที่หนาแน่นชนิด FeCr2O4 บนชิ้นงานก่อนนำไปอบอ่อนแบบกะ ชิ้นงานที่อบอ่อนแบบกะในบรรยากาศปกติ พบสเกลออกไซด์ชั้นนอกที่เป็นรูพรุนชนิด Fe2O3 และออกไซด์ชั้นในที่หนาแน่นชนิด (Fe,Cr)2O3 ชิ้นงานที่อบอ่อนแบบกะในบรรยากาศไฮโดรเจน พบสเกลออกไซด์ชั้นนอกที่เป็นรูพรุนชนิด Fe3O4 และออกไซด์ชั้นในที่หนาแน่นชนิด FeCr2O4 ชิ้นงานที่อบอ่อนแบบกะในบรรยากาศไนโตรเจน พบสเกลออกไซด์ชั้นนอกที่เป็นรูพรุนชนิด Fe3O4 และออกไซด์ชั้นในที่หนาแน่นชนิด (Fe,Cr)2O3, FeCr2O4 หลังจากการอบอ่อนแบบกะในบรรยากาศไนโตรเจนพบความหนาของชั้นสเกลออกไซด์ที่เป็นรูพรุนมีค่ามากที่สุดรองลงมาคือหลังอบอ่อนแบบกะในบรรยากาศปกติ และไฮโดรเจนตามลำดับ หลังจากการอบอ่อนแบบกะในบรรยากาศปกติความหนาของชั้นสเกลออกไซด์ที่หนาแน่นมีค่ามากที่สุดรองลงมาคือหลังอบอ่อนแบบกะในไนโตรเจน และไฮโดรเจนตามลำดับ ภายหลังการกัดกรดพบออกไซด์เหลือค้างมากที่สุดในชิ้นงานที่อบอ่อนแบบกะในบรรยากาศปกติ รองลงมาคือ ชิ้นงานที่อบอ่อนแบบกะในไนโตรเจน และไฮโดรเจนตามลำดับ หลังกัดกรดน้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงไปของชิ้นงานที่อบอ่อนแบบกะในบรรยากาศไฮโดรเจนมีค่ามากที่สุดรองลงมาคือ ชิ้นงานที่อบอ่อนแบบกะในบรรยากาศปกติ และไนโตรเจนตามลำดับ ตรวจพบการกัดกร่อนตามขอบเกรนหลังการกัดกรดชิ้นงานที่อบอ่อนแบบกะในบรรยากาศปกติ และไนโตรเจน