Abstract:
อุณหภูมิผิวน้ำทะเลเป็นหนึ่งในปัจจัยในการก่อเกิดพายุหมุนเขตร้อน การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือและปรากฏการณ์เอนโซ (El Nino – Southern Oscillation: ENSO) กับความถี่ ความรุนแรงของพายุหมุนเขตร้อน และปริมาณฝนในประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2533 - พ.ศ. 2562 โดยแบ่งพื้นที่ศึกษาเป็นทะเลจีนใต้และทะเลฟิลิปปินส์ เนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดของพายุหมุนเขตร้อนที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง Ocean Nino Index (ONI) ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้ปรากฏการณ์เอนโซ กับค่าผิดปกติของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณทะเลจีนใต้ไม่มีความสัมพันธ์กัน แต่เมื่อวิเคราะห์ค่าสหสัมพันธ์แบบไขว้ พบว่าค่าผิดปกติอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณทะเลจีนใต้มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับดัชนี ONI ที่เวลา 3-6 เดือน ขณะที่บริเวณทะเลฟิลิปปินส์มีความสัมพันธ์ในเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญที่เวลา 0-6 เดือน จำนวนพายุหมุนเขตร้อนในบริเวณทะเลจีนใต้มีมากในปีลานีญาและมีจำนวนน้อยในปีเอลนีโญ ขณะที่บริเวณทะเลฟิลิปปินส์มีจำนวนพายุมากในปีเอลนีโญและมีจำนวนพายุน้อยลงในปีลานีญา ความรุนแรงของพายุซึ่งบ่งชี้ด้วยดัชนี Power Dissipation Index ในบริเวณทะเลฟิลิปปินส์มีความสัมพันธ์เชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญกับดัชนี ONI การวิเคราะห์ปริมาณฝนแบ่งเป็นช่วงต้น (พ.ค.-ก.ย.) และช่วงปลาย (ต.ค.-ธ.ค.) ฤดูกาลพายุของประเทศไทย พบว่าในปีเอลนีโญมีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปีลานีญาในทุกภาค นอกจากนี้ยังพบความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างค่าผิดปกติของปริมาณน้ำฝนในภาคตะวันออกกับความถี่ของพายุหมุนเขตร้อนในทะเลจีนใต้