Abstract:
หลุมจอดอากาศยาน ถือเป็นหนึ่งในทรัพยากรสำคัญที่กำหนดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินของท่าอากาศยาน โดยจำนวนหลุมจอดอากาศยานส่วนใหญ่นั้น มักถูกกำหนดจากโครงสร้างของท่าอากาศยานเอง ซึ่งจะมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละท่าอากาศยาน การวางแผนจัดสรรเที่ยวบินเข้าหลุมจอดอากาศยานที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสนามบินที่มีการจราจรหนาแน่น เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ ผู้วิจัยจึงได้ทำการจำลองปัญหาการจัดสรรเที่ยวบินเข้าหลุมจอดอากาศยาน (AGAP) แบบหลายวัตถุปรสงค์ ผ่านแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ แล้วทำการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีการเชิงพันธุกรรมแบบการจัดลำดับที่ไม่ถูกครอบงำ III (NSGA-III) ซึ่งในวิธีการดังกล่าว ผู้วิจัยได้สอดแทรกเงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่มักถูกละเลย เช่น ความเข้ากันได้ของอากาศยานและหลุมจอดอากาศยาน ตลอดจนการแบ่งกิจกรรมของเที่ยวบินให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติงานจริงของการท่าอากาศยาน ผู้วิจัยพบว่า ประสิทธิภาพของฮิวริสติกส์ที่ถูกพัฒนาขึ้นเป็นที่น่าพึงพอใจ โดยฮิวริสติกส์ดังกล่าวสามารถค้นหาคำตอบที่มีคุณภาพดีเทียบเท่ากับคำตอบที่เหมาะสมที่สุดจาก CPLEX ในปัญหา AGAP แบบวัตถุประสงค์เดี่ยวขนาดเล็กได้ทั้ง 15 ปัญหา นอกจากนี้ ฮิวริสติกส์ที่ถูกพัฒนาขึ้นยังสามารถค้นหาคำตอบของปัญหา AGAP ทั้งแบบวัตถุประสงค์เดี่ยว และหลายวัตถุประสงค์ที่มีขนาดใหญ่ได้ ในขณะที่ CPLEX ไม่สามารถหาแม้คำตอบตั้งต้นได้ เนื่องจากประสบปัญหาความจำไม่เพียงพอ