Abstract:
แอปพลิเคชันจัดส่งอาหารได้เข้ามามีบทบาทต่อการบริโภคอาหารในสังคมไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางเพื่อบริโภคอาหารในร้านอาหารมาเป็นการสั่งผ่านแอปพลิเคชันเพื่อบริโภคที่บ้านแทน อย่างไรก็ดีการมีบริการแอปพลิเคชันจัดส่งอาหารจะมีผลช่วยลดการเดินทางในภาพรวมหรือไม่ยังคงเป็นคำถามที่สำคัญ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของการใช้งานแอปพลิเคชันจัดส่งอาหารต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทางโดยรวมเพื่อการบริโภคอาหาร และศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความถี่ในการใช้แอปพลิเคชันจัดส่งอาหารภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่ล็อคดาวน์) โดยมีประชากรกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ที่เคยใช้งานแอปพลิเคชันจัดส่งอาหารและมีที่พักอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครจำนวน 405 ตัวอย่าง ผลการศึกษาพบว่าการใช้บริการแอปพลิเคชันจัดส่งอาหารส่งผลให้ระยะทางในการเดินทางโดยรวมเพิ่มขึ้นจากความต้องการที่ถูกเหนี่ยวนำ (Induced demand) ที่เกิดจากบริการดังกล่าว และจากการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกเชิงอันดับ (Ordered logistic regression) โดยมีตัวแปรความสามารถในการเดินทาง ตัวแปรที่กำหนดจากสมมติฐานด้านความสามารถในการเข้าถึงร้านอาหาร (Accessibility Efficiency) และตัวแปรที่กำหนดจากสมมติฐานด้านการแพร่กระจายนวัตกรรม (Innovation Diffusion) ร่วมกับตัวแปรทางด้านประชากรและเศรษฐศาสตร์ จากผลการวิเคราะห์พบว่า กลุ่มคนที่มีอายุเทียบเท่าหรือมากกว่า 40 ปีขึ้นไป กลุ่มคนที่มีที่ทำงานอยู่ห่างจากตลาดมากกว่า 500 เมตร มีโอกาสที่จะสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันเพิ่มขึ้น และกลุ่มคนที่มีรายได้ระหว่าง 15,001 – 30,000 บาทต่อเดือนมีโอกาสที่จะสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันลดลงในช่วงที่มีมาตรการล็อคดาวน์บังคับใช้อยู่เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาด