Abstract:
ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้นำพลังงานหมุนเวียนเข้ามาใช้งานมากยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่มีค่าเชื้อเพลิง เป็นพลังงานสะอาด ซึ่งแหล่งเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย คือ เชื้อเพลิงฟอสซิล ซี่งแนวโน้มจะขาดแคลนและมีราคาสูงในอนาคต ดังนั้นพลังงานหมุนเวียนที่มีความผันผวน ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม จึงกลายมาเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเพื่อนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า แต่การเพิ่มขึ้นของพลังงานนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความต้องการใช้ไฟฟ้า เนื่องจากไม่สามารถควบคุมและไม่สามารถพยากรณ์ได้อย่างแน่นอน และส่งผลต่อการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จึงเสนอให้นำระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่เข้ามาใช้งานในระบบไฟฟ้า เพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น และมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น และราคาการติดตั้งยังมีแนวโน้มที่ลดลงอีกด้วย
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอการหาขนาดของระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ที่เหมาะสม เมื่อมีการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนที่มีความผันผวน และทำงานร่วมกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในแผนการเดินเครื่องแบบเดิม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยที่ต้นทุนในระบบไฟฟ้านั้นต่ำที่สุด ซึ่งทำการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ และพิจารณาราคาการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ร่วมด้วย ในงานนี้พิจารณาการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนที่มีความผันผวนในแต่ละการทดสอบ โดยใช้ข้อมูลความต้องการใช้ไฟฟ้าและแผนการเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จากผลการวิเคราะห์พบว่าสามารถหาขนาดที่เหมาะสมของระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ได้ เมื่อมีพลังงานหมุนเวียนที่มีความผันผวนเพิ่มขึ้น 90% โดยทำงานร่วมกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและได้ผลของต้นทุนของระบบที่ต่ำที่สุดเมื่อพิจารณาราคาในการติดตั้งของระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ร่วมด้วย