Abstract:
แบบทดสอบความคล่องแคล่วทางภาษาของหน่วยเสียงเป็นแบบประเมินสำหรับภาวะความรู้คิดบกพร่อง โดยให้ผู้เข้าร่วมทำการทดสอบพูดคำที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษรที่กำหนดให้ได้มากที่สุดเป็นเวลา 1 นาที มีงานวิจัยจำนวนมากนำกลวิธีการเรียนรู้ของเครื่องซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย และใช้กันอย่างแพร่หลายร่วมกับเทคนิคการสกัดคุณลักษณะในเสียงเพื่อวินิจฉัยภาวะความรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย เช่น คุณลักษณะที่ขึ้นอยู่กับส่วนเงียบ การจัดกลุ่มคำ การเปลี่ยนกลุ่มคำ และคุณลักษณะทางความหมาย คุณลักษณะเหล่านี้จะถูกนำไปเป็นชุดข้อมูลสำหรับฝึกฝนและทดสอบในกระบวนการของการเรียนรู้ของเครื่อง เพื่อคัดแยกภาวะความรู้คิดบกพร่องเล็กน้อยต่อไป ปัจจุบันมีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับแบบทดสอบความคล่องแคล่วทางภาษาของหน่วยเสียงในหลายภาษาแต่ยังคงไม่พบการศึกษาในภาษาไทย การประยุกต์วิธีการที่ใช้ในปัจจุบันกับแบบทดสอบความคล่องทางภาษาฉบับภาษาไทยให้ผลลัพธ์ไม่เป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากภาษาไทยมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากภาษาอังกฤษ เป็นผลให้วิธีการที่ใช้ปัจจุบัน เช่น การสกัดคุณลักษณะ จะต้องปรับวิธีการคำนวนให้เหมาะสม งานวิจัยของเรามีเป้าหมายที่จะแยกแยะภาวะความรู้คิดบกพร่องเล็กน้อยจากแบบประเมินความคล่องทางภาษาฉบับภาษาไทย งานวิจัยของเรายังนำเสนอเทคนิคใหม่สำหรับการจัดกลุ่มคำสำหรับภาษาไทย และการใช้คุณลักษณะแบบผสมผสานโดยคัดเลือกจากผลลัพธ์ทางสถิติ โดยอาศัยข้อมูลจากโปรแกรมประยุกต์โมคาจำนวน 100 ตัวอย่าง โดยแบ่งเป็น 41 คน ที่มีภาวะความรู้คิดบกพร่อเล็กน้อยและ 59 คน ที่เป็นกลุ่มควบคุม ผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่าการใช้คุณลักษณะที่คัดเลือกจากผลลัพธ์ทางสถิติช่วยเพิ่มความแม่นยำในการคัดแยกผู้ป่วยได้ดีอย่างมีนัยสำคัญ และคุณลักษณะแต่ละประเภทมีประสิทธิภาพต่อของตัวจำแนกประเภทไม่เท่ากัน