Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษาลักษณะของการใช้ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี กระบวนการกำหนดและ
นำข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีไปปฏิบัติ ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคของการขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม
ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในห้วงรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กันยายน 2557 – พฤษภาคม 2564 โดยใช้แนวคิดกระบวนการนโยบาย (Policy process) และการนำนโยบายไปปฏิบัติ และระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ได้แก่ การเก็บข้อมูลจากเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 9 คน
ซึ่งมีข้อค้นพบจากการศึกษาวิจัย คือ ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีจำนวนมากกว่าข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในสมัยก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด โดยจะถูกใช้ใน 4 โอกาส ได้แก่ การลงพื้นที่ตรวจราชการของนายกรัฐมนตรี การประชุมคณะกรรมการระดับชาติที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน การเป็นประธานในพิธีเปิด/ปิดงาน และมอบนโยบาย และการใช้ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีกรณีโควิด – 19 ผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามุ่งเน้นการบูรณาการทำงานข้ามหน่วยงาน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่แตกต่างกับการใช้ในสมัยรัฐบาลก่อนหน้าที่มีจำนวนน้อย ใช้ในกรณีเร่งด่วนเท่านั้น และเป็นการสั่งการผ่านหน่วยงานปฏิบัติโดยตรง นอกจากนี้ พบปัญหาการนิยามและกำหนดว่าข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีคืออะไร และหน่วยงานใดบ้างที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการสร้างกลไกทั้งหน่วยงานประจำและคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมา ส่งผลให้ในหลายกรณีนายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นผู้กำหนดข้อสั่งการแต่เป็นเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่จดข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในแง่ของการนำข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีไปปฏิบัติ พบว่า ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับโควิด – 19 ถูกนำไปปฏิบัติและได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่นำข้อสั่งการไปปฏิบัติในหน่วยงานระดับปฏิบัติมากที่สุด เมื่อเทียบกับข้อสั่งการในโอกาสอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกัน รองลงมาคือ ข้อสั่งการในการลงพื้นที่ตรวจราชการ การปฏิบัติภารกิจเป็นประธานในพิธีเปิด/ปิดและมอบนโยบาย และการประชุมคณะกรรมการระดับชาติ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดการขับเคลื่อน
การดำเนินงานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี แต่ผลลัพธ์ของการดำเนินงานตามที่ฝ่ายบริหารคาดหวังถือว่าต่ำในภาพรวม ผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะว่า ไม่ควรมีการผลิตข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีออกมาจำนวนมาก เนื่องจากจะส่งผลกระทบทางลบต่อการดำเนินงานอื่น ๆ ของหน่วยงานปฏิบัติได้