Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสานวิธี มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตัวชี้วัดความสำเร็จของสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานของสากล และเพื่อหาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการหาเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลประกอบการของสตาร์ทอัพด้านการเกษตรและนำไปสู่การพัฒนากิจการของสตาร์ทอัพให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล การศึกษาตัวชี้วัดความสำเร็จของสตาร์ทอัพด้านการเกษตรในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องใหม่ในวงการสตาร์ทอัพของไทย ผู้วิจัยพัฒนาตัวชี้วัดโดยนิยามเชิงปฏิบัติการและนิยามเชิงทฤษฏี ด้วยการประยุกต์ใช้เทคนิคเดลฟาย (Delphi) โดยสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 ท่าน และวิเคราะห์ผลด้วยสถิติค่าแนวโน้มเข้าสู่ศูนย์กลาง
ตัวชี้วัดนี้ประกอบด้วย 4 มิติ โดยให้ความสำคัญกับการพึ่งพาตนเองทางด้านนวัตกรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่งผลให้มิติที่ 2 นวัตกรรมและความได้เปรียบทางการแข่งขัน และมิติที่ 3 องค์กรและความสามารถทางผู้ประกอบการ มีน้ำหนักที่มากกว่ามิติที่ 1 มูลค่าบริษัทและการเติบโตทางธุรกิจ และมิติที่ 4 การสร้างผลกระทบและการเปลี่ยนแปลง จากผลการทดสอบการประเมินตัวชี้วัดพบว่า ระดับการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของไทย 5 บริษัท อยู่ในระหว่างขั้น 2 – 4 ส่วนใหญ่เป็นสตาร์ทอัพอยู่ในระดับ 2 ขาดความพร้อมในด้านการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมด้วยตนเองและ สตาร์ทอัพขั้นที่ 3 นวัตกรรมยังไม่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย และสตาร์ทอัพขั้นที่ 4 มีศักยภาพโดดเด่นในด้านศักยภาพทุนมนุษย์ในการสร้างและคิดค้นนวัตกรรม ในอนาคตเพื่อสร้างความแม่นยำและเที่ยงตรงตามมาตราฐานสากล ตัวชี้วัดนี้ควรเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญในการประเมินและความถูกต้องของข้อมูลที่ใช้