Abstract:
การศึกษาวิจัยเรื่อง การประเมินผลโครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ (Tambon Smart Team) กรณีศึกษา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาว่าโครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการสามารถดำเนินการบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้มากน้อยเพียงใด (2) ศึกษาปัญหา อุปสรรค ในการดำเนินโครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ และ (3) เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะ
ในการปรับปรุงและพัฒนาการจัดทำโครงการจ้างงานหรือโครงการที่มีลักษณะใกล้เคียงกันในอนาคตให้มีประสิทธิภาพ
มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การศึกษาวิจัยดังกล่าวใช้รูปแบบการประเมิน CIPP Model เป็นกรอบแนวคิดหลักในการประเมินผลโครงการซึ่งกำหนดรูปแบบการศึกษาเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก
กลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย ข้าราชการสังกัดกรมการปกครองทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ประกอบด้วย นายอำเภอ ปลัดอำเภอ และเจ้าพนักงานปกครอง จำนวน 5 คน และลูกจ้างเหมาบริการโครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ จำนวน 12 คน รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 17 คน
ผลการศึกษา สามารถสรุปผลได้ ดังนี้ 1. จากการประเมินผลโครงการตามวัตถุประสงค์ของโครงการทั้ง
3 ประการ พบว่า (1) โครงการสามารถกระตุ้นการบริโภคได้น้อย เนื่องจากเป็นโครงการจ้างงานระยะสั้น โดยจ้างงานตำบลละ 2 คน และจ้างงานเพียง 12 เดือนเท่านั้น (2) ฐานข้อมูล Database เป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมข้อมูลหลากหลายด้านของแต่ละหมู่บ้าน ตำบล มารวมไว้ในฐานข้อมูลเดียว ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นในการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ได้เป็นอย่างดี โดยปัจจัยด้านบริบทของโครงการ คือ ความพร้อมบุคลากรของกรมการปกครองเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การจัดทำฐานข้อมูล Database ประสบความสำเร็จ (3) เรื่องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและการพัฒนาพื้นที่ พบว่า โครงการสามารถดำเนินการบรรลุตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ โดยผ่านปัจจัยนำเข้าของโครงการ คือ ลูกจ้างโครงการ ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนอำเภอในการนำนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล และกรมการปกครอง ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ไปปฏิบัติในพื้นที่ 2. ปัญหาและอุปสรรคจากการดำเนินโครงการ สามารถแบ่งปัญหาที่พบออกเป็น 2 ลักษณะ คือ (1) ปัญหาที่พบในอำเภอขนาดใหญ่ ได้แก่ งบประมาณสำหรับดำเนินโครงการของอำเภอมีไม่เพียงพอ จำนวนบุคลากรของอำเภอมีไม่เหมาะสมกับจำนวนลูกจ้างและปัญหาการปฏิบัติงานของลูกจ้างในเขตชุมชนที่ไม่มีกำนันผู้ใหญ่บ้าน (2) ปัญหาที่พบในอำเภอขนาดเล็ก ได้แก่ ปัญหาสัญญาณอินเตอร์เน็ตและ GPS มีไม่ครอบคลุมในพื้นที่ และปัญหาเรื่องการเข้าใช้งานระบบการจัดเก็บข้อมูล