Abstract:
งานวิจัยนี้ศึกษาถึงการนำนโยบายการขับเคลื่อนสำนักทะเบียนอำเภอสู่ศูนย์ราชการสะดวกไปปฏิบัติ โดยใช้กรณีศึกษาของจังหวัดนครสวรรค์ ที่ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 2 ปี (พ.ศ. 2563 – 2564) ซึ่งมีสำนักทะเบียนผ่านการรับรองศูนย์ราชการสะดวก 14 แห่ง จาก 878 แห่งทั่วประเทศ และจังหวัดนครสวรรค์ ยังไม่มีสำนักทะเบียนใดผ่านการรับรอง ผู้วิจัยในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติงานทะเบียนจึงสนใจในปรากฏการณ์ดังกล่าวเนื่องจากเป็นนโยบายที่ผู้บริหารของกรมการปกครองให้ความสำคัญ ว่ามีปัจจัยปัญหาอุปสรรคอย่างไรในการดำเนินงาน และควรมีแนวทางอย่างไรเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายได้สำเร็จ ด้วยหวังดีเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยสะท้อนมุมมองของผู้ปฏิบัติงานทะเบียน โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ ทั้งการศึกษาจากเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ
ผลการศึกษาพบว่าปัจจัยที่ส่งต่อผลการนำนโยบายการขับเคลื่อนสำนักทะเบียนอำเภอสู่ศูนย์ราชการสะดวกไปปฏิบัติ คือ รูปแบบของบริการสาธารณะมีวัตถุประสงค์ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของนโยบาย ทัศนะคติของผู้ปฏิบัติงานที่กลัวการรับผิด กระบวนการเข้ารับการประเมินที่มีความยุ่งยาก ทรัพยากรไม่เพียงพอ และผู้นำระดับพื้นที่ไม่ได้ให้ความสำคัญ รวมถึงได้มีข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย ถือเป็นการสร้างข้อสรุปย่อยไปสู่ข้อสรุปทั่วไปที่เชื่อว่าจะนำไปใช้กับสำนักทะเบียนอื่นๆ ได้ต่อไป เนื่องจากอยู่ภายใต้บริบทของกฎหมาย และรูปแบบของกระบวนการเข้ารับการประเมินที่เหมือนกัน