Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษาและตอบคำถามวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการการนำนโยบายลดทอนความเป็นอาชญากรรมในผู้เสพยาเสพติดไปปฏิบัติและปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยศึกษากรณี ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 108/2557 โดยวิเคราะห์เชื่อมโยงกับปัจจัยในการนำนโยบายไปปฏิบัติตามทฤษฎีของ Van Meter และ Van Horn เพื่อสะท้อนภาพนโยบายในทางปฏิบัติกับปัจจัยต่าง ๆ ตามทฤษฎีฯ และผลลัพธ์ของนโยบาย งานวิจัยชิ้นนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เน้นเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดนโยบายและนำนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติ พร้อมด้วยการศึกษาจากการสังเกตจากการสัมภาษณ์แบบกลุ่ม และการศึกษาวิเคราะห์เอกสารทุติยภูมิ ทั้งนี้ การศึกษาพบว่า ในการนำนโยบายไปปฏิบัติตามประกาศฯ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ การค้นหาผู้เสพฯ การคัดกรองเพื่อเข้าสู่การบำบัด การบำบัดฟื้นฟู และการติดตามให้ความช่วยเหลือ โดยในทุกขั้นตอนล้วนมีอุปสรรคในการดำเนินงานทั้งหมด โดยขั้นตอนที่ดำเนินการได้ดีที่สุด คือการบำบัดฟื้นฟูฯ จากการจัดสรรทรัพยากร การกำหนดเป้าหมาย เจตนารมณ์ และแนวปฏิบัติละเอียดครบถ้วน มีข้อมูลวิชาการรองรับ ในขณะที่ การติดตามให้ความช่วยเหลือฯ ถือเป็นขั้นตอนที่ต้องปรับปรุงมากที่สุด จากการขาดการจัดสรรทรัพยากร และไม่มีการกำหนดบทบาทหรือแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งส่งผลให้การประสานงานหรือการสื่อสารระหว่างหน่วยงานไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับกลไกการติดตามและให้ความช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้น เพื่อปรับสภาพแวดล้อมและช่วยเหลือผู้เสพไม่กลับสู่วงจรยาเสพติด นอกจากนี้ ในทางปฏิบัตินโยบายนี้ทำให้การเสพยาเสพติดไม่ถูกตีตราจากสังคมแต่อาจเปิดช่องให้เกิดการเสพซ้ำ จึงควรเพิ่มรายละเอียดในการคัดกรองผู้เสพยาเสพติด เพื่อจำแนกผู้เสพให้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูฯ และเฝ้าระวังอย่างเหมาะสม