Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ เพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 โดยศึกษาจากเอกสารและสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มเป้าหมาย 12 คน ได้แก่ ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ปฏิบัติงานด้านการบริหารงบประมาณของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 2
ผลการศึกษาภายใต้กรอบแนวคิดมาตรฐานการจัดการทางการเงิน 7 Hurdles ผู้วิจัยเลือกเฉพาะด้านการวางแผนงบประมาณ ด้านการจัดระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ด้านการบริหารทางการเงินและควบคุมงบประมาณ และด้านการรายงานทางการเงินและผลการดำเนินงาน เพื่อศึกษาปัญหาและสาเหตุการบริหารงบประมาณของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 พบว่าปัญหาที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ ปัญหาด้านการบริหารจัดการองค์กร ที่เกี่ยวข้องกับคน การบูรณาการระหว่างหน่วยงาน และการบริหารความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในระยะสั้น โดยการนำระบบการบริหารการจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management) มาพัฒนาบุคลากร การทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอกกลุ่มจังหวัด บทบาทผู้นำที่เข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับการปฏิบัติงานของบุคลากรอย่างใกล้ชิด ส่วนปัญหาด้านสถาบันทางการคลังที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างองค์กร กฎระเบียบ และการรวมอำนาจ ซึ่งมีหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และคณะอนุกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (อ.ก.บ.ภ.) ถูกกำหนดให้แก้ไขในระยะยาว โดยการแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงบประมาณให้ยืดหยุ่นและลดขั้นตอนการพิจารณา มีการกระจายอำนาจ ปรับโครงสร้างองค์กรของกลุ่มจังหวัด เพิ่มสวัสดิการแรงจูงใจในการทำงาน และนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านเอกสาร