Abstract:
การศึกษาวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรในการนำผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้วิจัยได้ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นและสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจและติดตามผู้ประกอบการนอกระบบและผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งถอดบทเรียนจากแนวทางการนำผู้ประกอบการพาณิชย์เข้าสู่ระบบของประเทศเกาหลีใต้และประเทศญี่ปุ่น
ผลการศึกษาสามารถสรุปประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะ ได้แก่ 1) ปัญหาด้านการบูรณาการข้อมูลระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐควรสร้างความชัดเจนหรือเป้าหมายในการบูรณาการข้อมูล และจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลฐานข้อมูลดิจิทัล 2) ปัญหาด้านกฎหมายควรพัฒนากฎหมายให้ทันสมัย ยกเลิกกฎหมายและระเบียบที่สร้างความล่าช้า รวมทั้งพัฒนากฎหมายให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ 3) ปัญหาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม หน่วยงานภาครัฐควรกำหนดแผนพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามาร่วมลงทุน การจะพัฒนาแนวทางการนำผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบภาษีให้มีประสิทธิภาพได้ต้องเกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม นำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายซึ่งประกอบด้วย ความเชี่ยวชาญของภาครัฐในการสำรวจและติดตามผู้ประกอบการ การร่วมลงทุนและการสร้างนวัตกรรมของภาคเอกชน และการเป็นพลเมืองที่ดี มาบูรณาการเพื่อสร้าง Big Data และนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อให้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ และสร้างความเป็นธรรมทางภาษีอากรให้กับประชาชนในประเทศ