Abstract:
งานวิจัยแบบผสมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ทัศนคติและการรับรู้ของประชาชนที่มีต่อการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน และเพื่อเสนอแนะแนวทางการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน ผ่านประสบการณ์ของผู้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้ผู้วิจัยเลือกใช้เทคนิคการสัมภาษณ์และแบบสอบถาม ซึ่งดำเนินการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในที่นี้คือ ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้าน และเก็บข้อมูลจากการแจกแบบสอบถาม (Survey) เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับทัศนคติ การรับรู้ และการมีส่วนร่วมจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา
การศึกษาครั้งนี้พบว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้านมีทัศนคติว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้านมีความสำคัญต่อตนเองอยู่ในระดับมากที่สุด ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้านมีทัศนคติว่าหมู่บ้านของตนจำเป็นจะต้องมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทำหน้าที่ปกครองดูแลหมู่บ้านต่อไปอยู่ในระดับมากที่สุด ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้านมีทัศนคติว่าการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในหมู่บ้านจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านในระดับที่ดี รวมทั้งประชาชนมีทัศนคติว่า การประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน ทำให้ตนมีส่วนร่วมในการควบคุมและตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านอยู่ในระดับมากที่สุด และการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน ทำให้ตนมีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านอยู่ในระดับมากที่สุด สำหรับข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง พบว่ามีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ สถาบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้านยังคงมีความสำคัญต่อการปกครองท้องที่ ประชาชนส่วนใหญ่มีทัศนคติเชิงบวกต่อการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน และเห็นด้วยกับการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน โดยประชาชนส่วนใหญ่มีความพร้อมและสมัครใจเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ด้านการรับรู้ ประชาชนโดยส่วนใหญ่มีการรับรู้ที่ดีและเข้ามามีส่วนร่วมต่อการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านในระดับที่มาก ประชาชนโดยส่วนใหญ่มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน หากตนได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร การประชาสัมพันธ์ที่เพียงพอและมีความทั่วถึงครอบคลุม ในขณะเดียวกันปัญหาและอุปสรรคของการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านที่พบคือ ปัญหาการกำหนดวัน และเวลาในการดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน ปัญหาของจำนวนในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในหมู่บ้าน และปัญหาการเล่นพวกพ้อง ในการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน
แนวทางการปรับปรุงการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นประกอบด้วย 1) การปรับปรุงการประชาสัมพันธ์และการสร้างการรับรู้แก่ประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน 2) การปรับทัศนคติของผู้ดำเนินการประเมินและผู้เข้ารับการประเมิน ให้มีทัศนคติที่ดี รวมถึงการเปิดกว้างต่อการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และ 3) การปรับปรุง แก้ไขระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น