Abstract:
การศึกษาเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้คู่ความเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการคุ้มครองสิทธิของศาลน้อย ผลที่เกิดขึ้น และแนวทางเพิ่มการมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพ ผู้ศึกษาใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษา วิเคราะห์แนวคิด ทฤษฎี นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วม แรงจูงใจทางสังคม ความคาดหวัง แนวคิดยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ แนวคิดตัวแบบสมเหตุผล การวิเคราะห์เปรียบเทียบต้นทุนกับประโยชน์ที่ได้รับ และมาตรการคุ้มครองสิทธิทั้งในและต่างประเทศ จากเอกสารทางวิชาการ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ผู้เสียหาย ผู้ปกครองเด็กเเละเยาวชนที่เป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยของศาล และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการคุ้มครองสิทธิ แล้วนำข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญทั้งหมดไปทบทวนในการประชุมกลุ่มย่อย ผลการศึกษาพบว่า เหตุปัจจัยที่มีผลทำให้คู่ความเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการคุ้มครองสิทธิน้อยคือ ปัจจัยขั้นตอนกระบวนการเข้ามามีส่วนร่วม ปัจจัยเรื่องความรู้ ความเข้าใจในข้อกฎหมาย สิทธิและหน้าที่ ปัจจัยโอกาสแสดงความเห็นในการจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูและปัจจัยความคาดหวังในผลคดีที่จะเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตน ส่วนผลของการเข้ามามีส่วนร่วมน้อยนั้น หากผู้เสียหายไม่เข้ามาร่วมในการทำแผนฯ คดีก็จะต้องกลับสู่การสืบพยานตามปกติ เสียโอกาสในการนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ กรณีหากผู้ปกครองและเยาวชนไม่ให้ความร่วมมือ ปฏิบัติตามเงื่อนไขในแผนฯ ศาลอาจใช้ดุลพินิจยกเลิกการทำแผนและนำคดีเข้าสู่การพิจารณาปกติต่อไป แนวทางหรือนโยบายเพิ่มการมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพคือ สร้างความรับรู้ ความเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพ ชี้ช่องทางให้เห็นประโยชน์ที่คู่ความจะได้รับ เพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่ และเพิ่มช่องทางให้ติดต่อศาลได้สะดวกขึ้น