Abstract:
การศึกษาเรื่อง “เครือข่ายกับประสบการณ์การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามชุมชน (Community Isolation : CI) กรณีศึกษา จังหวัดสมุทรสาคร” มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ดังนี้ 1) เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่เป็นแรงจูงใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามชุมชน (Community Isolation) ในจังหวัดสมุทรสาคร 2) เพื่อวิเคราะห์ลักษณะการร่วมมือของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามชุมชน (Community Isolation) ในจังหวัดสมุทรสาคร 3) เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่เป็นปัญหา และอุปสรรคในการตั้งโรงพยาบาลสนามชุมชน (Community Isolation) ในจังหวัดสมุทรสาคร โดยการศึกษาวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ดำเนินการศึกษาด้วยการใช้เทคนิคการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ โดยใช้วิธีการเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง ซึ่งเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรง และมีความรู้ความเข้าใจประเด็นต่างๆเกี่ยวกับโรงพยาบาลสนามชุมชน (Community Isolation) ในจังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด (ผู้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย) ผู้แทนอำเภอ ผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนภาคเอกชน ตัวแทนภาคประชาสังคม บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลสนามชุมชน โดยยกกรณีศึกษาของโรงพยาบาลสนามชุมชนในจังหวัด จำนวน 2 แห่ง ที่มีการดำเนินการที่ประสบผลสำเร็จ ได้แก่ โรงพยาบาลสนามชุมชน ตำบลบางหญ้าแพรก (มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตสมุทรสาคร) และโรงพยาบาลสนามชุมชน ตำบลบ้านเกาะ (โรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลบางปลา)
ผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยจูงใจมูลเหตุและเงื่อนไขที่นำไปสู่การแสวงหาความร่วมมือกันของเครือข่ายในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามทั้งสองแห่ง ประกอบด้วย 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ข้อบังคับหรือแนวนโยบายจากส่วนราชการที่ถูกกำหนดโดยคณะกรรมการโณคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร 2) การมีสายสัมพันธ์ระหว่างภาคีภาคส่วนต่างๆอย่างแนบแน่น ซึ่งเป็นผลจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในหลายระดับอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง 3) ความตื่นตัวและความเข้มแข็งของภาคชุมชนและประชาสังคมที่มีต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 4) ข้อจำกัดในเชิงสถาบันและทรัพยากรของภาคีเครือข่าย สำหรับลักษณะกระบวนการในดำเนินการร่วมกันระหว่างเครือข่ายในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามของทั้งสองแห่ง พบว่า ประกอบด้วย 3 ประเด็น ได้แก่ 1) โครงสร้างความร่วมมือที่มีการกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ที่เป็นทางการ 2) การวางแผนร่วมกัน โดยมีการกำหนดองค์ประกอบในการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน การกำหนดขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ และ 3) การสนับสนุนทรัพยากร โดยมีการจัดสรรทรัพยากรระหว่างกันอย่างชัดเจนเป็นทางการที่แต่ละฝ่ายมีอยู่เพื่อขับเคลื่อนภารกิจภายใต้เป้าหมายที่ทุกฝ่ายกำหนดและยึดถือร่วมกัน ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวมีลักษณะหนุนเสริมพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ในขณะที่ปัจจัยอุปสรรคของความร่วมมือกันของเครือข่ายในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามทั้งสองแห่ง พบว่า เกิดจากความไม่ชัดเจนของนโยบายจากผู้กำหนดนโยบายของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายบ่อยครั้ง