Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษากลไกที่รัฐบาลไทยใช้เพื่อจัดการข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคมเกี่ยวกับนโยบายทรงผมนักเรียนว่ามีรูปแบบและการทำงานอย่างไร ตลอดจนกลไกดังกล่าวส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการกำหนดนโยบายสาธารณะมากน้อยเพียงใด งานวิจัยชิ้นนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 8 คน และนักเรียนผู้เรียกร้องด้วยวิธีการสัมภาษณ์และศึกษาข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ ข้อค้นพบจากงานวิจัยชิ้นนี้คือข้อเรียกร้องเกี่ยวกับทรงผมนักเรียนถูกผลักดันโดยกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมที่ได้รับแรงสนับสนุนจากบริบททางการเมืองในช่วงปี พ.ศ. 2563 ที่นักเรียนนักศึกษามีการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองอย่างกว้างขวาง ประกอบกับการขยายตัวของสื่อสังคมออนไลน์ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้รับข้อเรียกร้อง / ร้องเรียนจากนักเรียนจำนวนมากโดยเฉพาะการปฏิบัติของสถานศึกษาซึ่งยังไม่สอดคล้องกับระเบียบทรงผมนักเรียนฉบับใหม่ และใช้กลไกที่เป็นทางการเพิ่มเติมนอกจากกลไกตรวจสอบเรื่องร้องเรียนตามระบบราชการเพื่อจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยใช้การเปิดรับฟังความคิดเห็นนักเรียน และการตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของนักเรียน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเลือกจัดการประเด็นเกี่ยวกับทรงผมนักเรียนเป็นลำดับแรก เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจำนวนมากและแก้ไขได้ทันที ผลลัพธ์ของการจัดการข้อร้องเรียนคือการแก้ไขระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ให้รองรับความหลากหลายทางเพศ และระบุรูปแบบการมีส่วนร่วมที่ชัดเจนของนักเรียนและผู้เกี่ยวข้องในการกำหนดระเบียบทรงผมที่เฉพาะเจาะจงของสถานศึกษา ในภาพรวม กระทรวงศึกษาธิการพยายามใช้การมีส่วนร่วมของนักเรียนในการกำหนดนโยบายสาธารณะ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ ไม่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในร่างกายหรือทรงผมของนักเรียนเท่าที่ควร