Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับชุมชนในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรณีศึกษาการจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด19 โรงเรียนวัดจุฬามณี ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยใช้กรอบแนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการมีส่วนร่วมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมและการบริหารราชการแบบร่วมมือกัน ซึ่งมีลักษณะเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพและเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยเทคนิคการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลสําคัญที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด19 ทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคประชาชนในชุมชนตำบลบ้านกุ่ม ทั้งนี้ผลการศึกษาพบว่าในช่วงที่มีการระบาดรุนแรง หน่วยงานภาครัฐภายในพื้นที่มีความพยายามที่จะจัดตั้งศูนย์พักคอย แต่มีข้อจำกัดด้านโครงสร้าง งบประมาณ และกฎระเบียบต่างๆ ที่ทำให้การดำเนินการจัดตั้งศูนย์พักคอยมีความล่าช้า ดังนั้น ชาวบ้านในชุมชนตำบลบ้านกุ่มจึงเป็นฝ่ายเริ่มรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวโดยการคัดแยกผู้ป่วยออกจากประชาชนที่ยังไม่ติดเชื้อในชุมชน และนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ของตำบลบ้านกุ่มขึ้นมา ทั้งนี้ศูนย์ดังกล่าวได้มีการระดมทรัพยากรทั้งในด้านการเงิน แรงงาน วัสดุอุปกรณ์ และการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนการได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายทางสังคมและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งภาครัฐก็ปรับบทบาทจากการเป็นหน่วยงานหลักในการรับมือกับวิกฤตดังกล่าว มาสู่การเป็นฝ่ายสนับสนุนโดยการให้คำปรึกษาและการประสานงานเกี่ยวกับการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ ในขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาถึงแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนในชุมชน ชุมชนดังกล่าวได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นเกี่ยวกับการถอดบทเรียนจากการดำเนินการบริหารจัดการศูนย์ดังกล่าว ซึ่งมีลักษณะเป็นการนำหลักการการมีส่วนร่วมของชุมชน และการจัดการปกครองสาธารณะแนวใหม่ มาปรับใช้เพื่อการเตรียมการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือสถานการณ์วิกฤติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายในชุมชนในอนาคต ทั้งนี้จากการถอดบทเรียนในเบื้องต้นพบว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้กระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนประสบผลสำเร็จ ได้แก่ ความเข้มแข็งของผู้นำและชาวบ้าน, ผู้นำและเจ้าหน้าที่ภาครัฐทุกระดับมีทัศนคติที่ดีต่อกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน, ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างถูกต้องและเพียงพอผ่านการใช้เครื่องมือในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ, การเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม, การมีทรัพยากรที่เพียงพอและสามารถนำทรัพยากรไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ