Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาการจัดการเหตุอุทกภัยในภาวะฉุกเฉิน 2) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกลไกการจัดการเหตุอุทกภัยระดับพื้นที่ และ 3) นำไปสู่การเสนอแนะกลไกการบริหารจัดการเหตุอุทกภัยเพื่อให้สอดรับกับพื้นที่ ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลจาก 1) กรณีศึกษาหลัก อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรีและกำหนดหน่วยวิเคราะห์ย่อย จำนวน 3 กรณี สัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 24 คน 2) ใช้การวิจัยเอกสาร ทบทวนแนวคิดทฤษฎี โดยมีข้อค้นพบ ดังนี้ 1) ความสัมพันธ์แบบเป็นทางการ (Formal Relation) ในการจัดการเหตุอุทกภัยในภาวะฉุกเฉิน พบว่า การจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับอำเภอ ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการจัดการในภาวะฉุกเฉินภายใต้ระบบบัญชาการเหตุการณ์ (Incident Command System :ICS) เนื่องจาก ผู้บัญชาการเหตุการณ์อำเภอขาดความเข้าใจกลไกและระบบการทำงานภายใต้มาตรการการจัดการในภาวะฉุกเฉิน และโครงสร้างระบบบัญาชาการที่ถูกกำหนดไว้ในแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของจังหวัด จึงเป็นปัญหาสำคัญ แม้จะมีการกำหนดโครงสร้าง การทำงานอย่างเป็นระบบ แต่ไม่ได้นำระบบบัญชาการเดี่ยว (Single command) และการกำหนดกติกา (Code of Conduct) มาใช้ในการปฏิบัติงาน ทำให้ตัวแสดงภายใต้มาตรฐานการจัดการในภาวะฉุกเฉินไม่เป็นไปตามแผน 2) ความสัมพันธ์ในการทำงานที่ไม่เป็นทางการ (Working Relation) ในการจัดการเหตุอุทกภัยในภาวะฉุกเฉินพบว่า เมื่อผู้บัญชาการเหตุการณ์ไม่เข้าใจระบบของการบริหารจัดการภายใต้โครงสร้างของระบบบัญชาการเหตุการณ์ (Incident Command System :ICS) และไม่ใช้ระบบบัญชาการเดี่ยว (Single Command) อย่างที่ควรจะเป็น จึงทำให้รูปแบบการทำงานในความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการ (Working Relation) ไม่เกิดการทำงานอย่างเป็นระบบ หน่วยงานการปฏิบัติในพื้นที่ต่างทำงานตามความสามารถและศักยภาพของกลไกตนเองที่มีอยู่ ความสัมพันธ์ในการทำงาน (Working Relation) จึงไม่เกิดขึ้นและไม่สามารถประสานขอทรัพยากร เพราะไม่รู้ว่าใครมีศักยภาพในเรื่องใด และมีทรัพยากรใดบ้าง สุดท้ายนำไปสู่ความล่าช้าในการทำงานและให้ความช่วยเหลือ
ผลการศึกษาพบว่า ในแง่ความสัมพันธ์แบบเป็นทางการตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด พบว่าในการนำไปใช้หน้างานตามโครงสร้างมาตรฐานการทำงานที่ถูกกำหนดในแผนดังกล่าว ไม่ถูกนำมาใช้ปฏิบัติอย่างเป็นระบบ จึงไม่เป็นไปตามมาตรฐานของการจัดการในภาวะฉุกเฉิน ส่งผลให้การปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดความเชื่อใจในการทำงาน และขาดการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทรัพยากรต่างๆ ด้วยความล่าช้า จนนำไปสู่การปฏิบัติงานตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สำหรับข้อเสนอแนะ ผู้วิจัยพิจารณาจากผลการศึกษา โดยเสนอให้ดำเนินการตามแนวคิดเครือข่ายที่บริหารโดยองค์การหลัก (Network Administrative Organization : NAO) เนื่องจาก เป็นเครือข่ายที่มีรูปแบบการกำกับดูแลร่วมกัน มีองค์การนำการบริหารและกำกับกิจกรรมของเครือข่าย สอดคล้องกับระบบบัญชาการเหตุการณ์ ที่มีตัวแสดงจำนวนมากเข้ามาดำเนินการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งข้อเสนอกลไกการบริหารจัดการภัยพิบัติแบบเครือข่ายในระดับพื้นที่ เสนอให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อำเภอเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการจัดการสาธารณภัย และเป็นศูนย์กลางการประสานการปฏิบัติของเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติระดับพื้นที่