Abstract:
งานวิจัยฉบับนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไทย ให้ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด และตอบคำถามที่ว่าใครเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากมาตรการบ้าง และมีส่วนได้เสียอย่างไร โดยใช้แนวคิดผู้มีส่วนได้เสีย และแนวคิดภาระทางการบริหาร มาเป็นแนวทางการศึกษาวิจัย งานวิจัยฉบับนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้เกี่ยวข้องกับมาตรการเป็นจำนวน 17 คน ผลการศึกษาพบว่าผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับมาตรการมีทั้งหมด 5 กลุ่ม ประกอบด้วย ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ หน่วยงานของรัฐ ที่ปรึกษา/ผู้เชี่ยวชาญ ห้างค้าปลีก และ ผู้บริโภค โดยผู้ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และแบกรับภาระต้นทุนทางการบริหารน้อยที่สุด ได้แก่ หน่วยงานของรัฐ เนื่องจากสามารถบรรลุเป้าหมายตามมาตรการ ที่ปรึกษา ผู้ได้รับประโยชน์จากเงินค่าจ้าง ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่กับชุมชน และเรซูเม่ในการทำงานเชิงวิชาการ รวมทั้งห้างค้าปลีก ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการกระจายสินค้า และสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรกับชุมชน โดยผู้ที่ได้ทั้งประโยชน์และเสียประโยชน์ คือ ผู้ผลิต / ผู้ประกอบ ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย สามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า ทำให้สินค้ามีมาตรฐาน รวมทั้งโอกาสในการขยายช่องทางการตลาดให้แก่สินค้า ทั้งนี้ ผู้ผลิต / ผู้ประกอบ ยังมีภาระทางการบริหารที่เกิดจากต้นทุนการเรียนรู้ ต้นทุนการปฎิบัติตามนโยบาย ต้นทุนค่าเสียโอกาส และต้นทุนทางจิตวิทยาที่ต้องแบกรับ โดยต้นทุนประเภทนี้เกิดกับสินค้าทุกกลุ่มประเภททั้งเกษตรกรรม หัตถกรรม และอุตสาหกรรม สำหรับผู้บริโภคก็เช่นกัน แต่ผู้บริโภคเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ เนื่องจากผู้บริโภคมีเพียงภาระต้นทุนทางการเรียนรู้เท่านั้นที่ต้องแบกรับ