Abstract:
ทำการศึกษาถึงความชุกของการติดเชื้อ Bartonella spp. ในแมวปกติและแมวป่วยด้วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ที่มารับการรักษา ณ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2561 พบว่ามีความชุกเท่ากับ 16.67% เมื่อทำการศึกษาถึงชนิดของการติดเชื้อ Bartonella spp. ด้วยวิธี PCR ในแมวที่เข้ามารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค และแมวป่วยด้วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง พบว่าเป็นเชื้อ Bartonella henselae ทั้งหมด ตรวจพบการติดเชื้อในแมวจำนวน 15 ตัวจากแมวที่ทำการศึกษาทั้งสิ้น 90 ตัว แมวส่วนใหญ่ที่ตรวจพบการติดเชื้อ Bartonella henselae ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นแมวปกติที่แข็งแรงและไม่มีประวัติการเจ็บป่วยถึง 11 ตัว พบการติดเชื้อในแมวตั้งแต่อายุ 3 เดือน ถึงอายุ 12 ปี เชื้อนี้สามารถติดต่อสู่แมวได้ในทุกช่วงอายุ และทุกเพศ แต่เพศเมียมีจำนวนมากกว่าเพศผู้ การมีหมัดบนตัวแมวเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการติดเชื้อ Bartonella spp. เมื่อทำการศึกษาเปรียบเทียบระดับภูมิคุ้มกันของแมวปกติและแมวป่วยด้วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องต่อการติดเชื้อ Bartonella spp. และหาความสัมพันธ์ระหว่างระดับภูมิคุ้มกันของแมวกับอาการผิดปกติที่แมวแสดงออก ผลการศึกษาในครั้งนี้พบว่าค่าอัตราส่วน CD4+:CD8+ ที่ต่ำกว่าปกติมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อ Bartonella henselae เมื่อทดสอบความสัมพันธ์ของโรค FIV กับการติดเชื้อ Bartonella henselae ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลที่ได้นี้แตกต่างจากกลุ่มแมวที่ติดเชื้อ FeLV และมีค่าอัตราส่วน CD4+:CD8+ ต่ำกว่าปกติ เนื่องจากแมวติดเชื้อ FeLV ในกลุ่มนี้เป็นแมวป่วยที่แสดงอาการผิดปกติ จึงมีค่า CD4+:CD8+ ที่ต่ำกว่าจึงทำให้โอกาสที่ตรวจพบ Bartonella henselae สูงกว่า ควรจัดการตรวจหาภูมิคุ้มกันในแมวซึ่งเลี้ยงโดยเจ้าของที่มีประวัติภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ เช่น กลุ่มคนได้รับเคมีบำบัด กลุ่มคนที่ติดเชื้อโรค HIV หรือกลุ่มคนสูงอายุที่เลี้ยงแมวจำนวนมาก เป็นต้น เนื่องจากแมวที่เลี้ยงอาจแพร่เชื้อ Bartonella spp. นี้สู่ผู้เลี้ยงและเป็นแหล่งรังโรคที่อาจติดต่อถึงคนต่อไป นอกจากนี้ควรมีโปรแกรมกำจัดหมัดบนตัวแมวเป็นประจำ เพื่อยับยั้งการแพร่ของเชื้อสู่แมวผ่านการติดหมัด