Abstract:
ในปัจจุบันการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมทางทะเลเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั่วโลก โดยทั่วไปไมโครพลาสติกจะมีขนาดระหว่าง 1 ไมโครเมตร ถึง 5 มิลลิเมตร และมีความหลากหลายของรูปร่างสามารถปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายของสิ่งมีชีวิตและส่งผลเสีย ในด้านต่าง ๆ เช่น การสะสมในเนื้อเยื่อ ส่งผลกระทบต่อระบบหายใจ การย่อยอาหาร การสืบพันธุ์และทำให้เกิดการเจริญที่ผิดปกติในตัวอ่อนซึ่งสิ่งมีชีวิตในไฟลัมไนดาเรียเป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปนเปื้อนไมโครพลาสติกโดยในงานทดลองที่ผ่านมานิยมศึกษาปริมาณไมโครพลาสติกในโพลิปปะการังซึ่งมีขนาดเล็กทำให้มีความเป็นไปได้ที่การประเมินปริมาณไมโครพลาสติกมีค่าที่สูงเกินจริงเนื่องจากไม่สามารถวิเคราะห์แยกส่วนได้ ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงใช้ดอกไม้ทะเลชนิด Aiptasia sp.เป็นตัวแทนของสิ่งมีชีวิตในไฟลัมไนดาเรียที่มีโพลิปขนาดใหญ่เพื่อตรวจหาปริมาณ ไมโครพลาสติกในแต่ละส่วนของโพลิป โดยทำการเก็บตัวอย่างดอกไม้ทะเลชนิด Aiptasia sp. จากบริเวณระบบเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เกาะสีชัง (n = 20) และบริเวณเกาะแสมสาร (n = 7) จังหวัดชลบุรี โดยนำดอกไม้ทะเลมาแยกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนหนวด (tentacle) ส่วนปาก (oral disc) และส่วนเนื้อเยื่อบริเวณระบบทางเดินอาหาร (gastrodermis) ชั่งน้ำหนักเปียก (mg) และวัดความยาว (mm) จากนั้นย่อยเนื้อเยื่อด้วยการอุ่นสารละลายโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ 10% นำไปกรองผ่านแผ่นกรองขนาด 1.2 μm และแช่แผ่นกรองในสารละลายโพแทสเซียมไอโอไดด์ นำไปเข้าเครื่อง sonicator และ centrifuge เมื่อเสร็จสิ้นกรองด้วยแผ่นกรองอีกครั้งและทิ้งให้แห้ง จากนั้นนำมาตรวจสอบไมโครพลาสติกด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบสเตอริโอและ โปรแกรม cell^D เพื่อวิเคราะห์ปริมาณและขนาดของไมโครพลาสติก ผลการศึกษาพบว่ามีไมโครพลาสติก 2 ประเภทคือ เส้นใย (fiber) และ ชิ้นส่วน (particle) โดยค่าเฉลี่ยปริมาณไมโครพลาสติกที่พบในเนื้อเยื่อดอกไม้ทะเล ส่วนหนวด ส่วนปาก และส่วน gastrodermis จากบริเวณเกาะสีชัง คือ 0.16 ± 0.11 ชิ้นต่อมิลลิกรัมน้ำหนักเปียก 2.39 ± 1.58 ชิ้นต่อมิลลิกรัมน้ำหนักเปียก และ 0.20 ± 0.13 ชิ้นต่อมิลลิกรัมน้ำหนักเปียก ตามลำดับ ในขณะเดียวกันบนเกาะแสมสารค่าเฉลี่ยปริมาณไมโครพลาสติกที่พบในเนื้อเยื่อดอกไม้ทะเล ส่วนหนวด ส่วนปาก และส่วน gastrodermis คือ 0.28 ± 0.04 ชิ้นต่อมิลลิกรัมน้ำหนักเปียก 4.43 ± 1.80 ชิ้นต่อมิลลิกรัมน้ำหนักเปียก และ 0.35 ± 0.21 ชิ้นต่อมิลลิกรัมน้ำหนักเปียก ตามลำดับ โดยทั้งสองเกาะมีปริมาณไมโครพลาสติกสะสมในเนื้อเยื่อส่วนปากสูงที่สุด นอกจากนั้นค่าเฉลี่ยขนาดของไมโคร พลาสติกบริเวณเกาะสีชังที่พบในเนื้อเยื่อ ส่วนหนวด ส่วนปาก และส่วน gastrodermis คือ 0.89 ± 0.35 มิลลิเมตร 0.96 ± 0.34 มิลลิเมตร และ 0.76 ± 0.35 มิลลิเมตร ตามลำดับ โดยไมโครพลาสติกที่พบบริเวณส่วนปากมีขนาดใหญ่ที่สุด และส่วน gastrodermis กับส่วนหนวดมีขนาดใกล้เคียงกัน ค่าเฉลี่ยขนาดของไมโครพลาสติกบริเวณบนเกาะแสมสารที่พบในเนื้อเยื่อ ส่วนหนวด ส่วนปาก และส่วน gastrodermis คือ 0.78 ± 0.14 มิลลิเมตร 1.12 ± 0.29 มิลลิเมตร และ 0.97 ± 0.29 มิลลิเมตร ตามลำดับ โดยไมโครพลาสติกที่พบบริเวณส่วนปากมีขนาดใหญ่ที่สุด รองลงมาคือ ส่วนหนวด และส่วน gastrodermis ตามลำดับ นอกเหนือจากนั้นทั้งปริมาณและขนาดของไมโครพลาสติกจากตัวอย่างที่เก็บจากบริเวณเกาะแสมสารมีค่าสูงกว่าบริเวณเกาะสีชัง จึงอาจกล่าวได้ว่าบริเวณเกาะแสมสารมีการปนเปื้อนไมโครพลาสติกมากกว่าบริเวณเกาะสีชัง และอาจมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น กิจกรรมของมนุษย์บริเวณที่ตั้งของเกาะที่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ในระยะทางที่ไม่เท่ากัน หรือกระแสน้ำที่มีการไหลพัดรอบเกาะที่แตกต่างกัน