Abstract:
เสียงร้องประกาศตนเองของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกอันดับกบเขียดถูกเปล่งโดยกบเพศผู้เพื่อใช้ในการดึงดูดและสื่อสารถึงเพศเมียชนิดเดียวกัน ซึ่งข้อมูลที่จำเพาะต่อชนิดนี้อาจเกี่ยวข้องกับกลไกการแบ่งแยกชนิดก่อนการผสมพันธุ์ ดังนั้นเสียงร้องประกาศตนเองจึงสามารถใช้ในการระบุชนิดได้ สำหรับอึ่งในสกุล Microhyla นั้นถูกพบได้โดยทั่วไปในประเทศไทย ถึงแม้ว่าจะมีงานวิจัยทางชีววิทยามากมายเกี่ยวกับอึ่งสกุลนี้ แต่การศึกษาเสียงร้องนั้นยังคงมีจำนวนน้อยมาก ซึ่งทำให้ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการทางวิวัฒนาการ ด้วยเหตุผลดังกล่าวการศึกษาในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบโครงสร้างของเสียงร้องประกาศตนเอง โดยศึกษาตัวแปรเชิงเวลาและตัวแปรเชิงสเปกตรัมความถี่ของเสียงทั้ง 7 ตัวแปรของอึ่งในสกุล Microhyla จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ อึ่งลายเลอะ (M. butleri) อึ่งข้างดำ (M. heymonsi) อึ่งน้ำเต้า (M. mukhlesuri) และอึ่งขาคำ (M. pulchra) จากนั้นตัวแปรดังกล่าวถูกนำมาวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างอึ่งทั้ง 4 ชนิด การเก็บตัวอย่างในภาคสนามทำการสำรวจด้วยวิธี visual encounter surveys ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ณ พื้นที่ลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ ทำการเก็บตัวอย่างอึ่งอย่างน้อยชนิดละ 5 ตัวอย่าง อึ่งแต่ละตัวจะถูกบันทึกเสียงร้องประกาศตนเอง จากนั้นอึ่งที่ถูกบันทึกเสียงจะถูกเก็บมาเพื่อใช้เป็นตัวอย่างอ้างอิง ผลการวิเคราะห์การจัดจำแนกเสียงร้องปรากฎว่าเสียงถูกแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ เสียงร้องที่มีจังหวะเป็นหน่วยย่อยซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงความถี่ ได้แก่ อึ่งลายเลอะและอึ่งขาคำ และเสียงร้องที่มีโน้ตแบบเดียวกันเป็นหน่วยย่อยซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงความถี่ ได้แก่ อึ่งข้างดำและอึ่งน้ำเต้า นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ Kruskall-Wallis H Test เผยว่าค่าเฉลี่ยของความถี่เด่น จำนวนโน้ตในเสียงร้อง อัตราของโน้ต ช่วงเวลาของโน้ต จำนวนจังหวะในเสียงร้อง และอัตราของจังหวะมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมัน 95 เปอร์เซ็นต์ (p=0.00) ระหว่างอึ่งทุกชนิด ยกเว้นค่าเฉลี่ยช่วงเวลาของเสียงร้องระหว่างอึ่งข้างดำและอึ่งน้ำเต้าที่ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยผลการวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์ความแปรปรวนของข้อมูลพบว่าค่าความแปรปรวนของข้อมูลภายในตัวเองเทียบกับค่าระหว่างตัวอื่นในชนิดเดียวกันไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในทุกตัวแปรของอึ่งทุกชนิด ซึ่งผลดังกล่าวข้างต้นสามารถนำไปใช้ในการแยกเสียงร้องที่แตกต่างกันระหว่างชนิดซ่อนเร้นได้ รวมไปถึงการใช้เป็นเสียงร้องอ้างอิงในการสำรวจความหลากหลายทางชนิดของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกอันดับกบเขียดร่วมกับการวิเคราะห์ด้วยลักษณะสัณฐานวิทยาและพันธุกรรม