Abstract:
ดอนหอยหลอดเป็นสันดอนที่ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นพื้นที่ รองรับน้ำทิ้งจากชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้มลพิษต่าง ๆ รวมถึงปรอทอาจเกิดการตกค้างและ สะสมบริเวณสันดอนก่อนไหลลงสู่อ่าวไทยตอนบน การศึกษาในครั้งนี้มุ่งเน้นศึกษาการกระจายตัวของปรอท และประเมินระดับการปนเปื้อนของปรอทตามลำดับความลึกของชั้นดินตะกอน โดยเก็บตัวอย่างในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2563 จำนวน 9 สถานี ประกอบด้วยสถานีในทิศตะวันตกเฉียงใต้ (SW) ของปากแม่น้ำแม่กลอง จำนวน 3 สถานี และในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (NE) ของปากแม่น้ำแม่กลองจำนวน 6 สถานี วิเคราะห์ ปริมาณรวมของปรอทในดินตะกอน (total mercury, T-Hg) ด้วยเทคนิค thermal decomposition atomic absorption spectrophotometry รวมถึงวิเคราะห์ปัจจัยทางกายภาพดังนี้ ปริมาณปรอทที่สกัดได้พร้อมกับ การสกัดซัลไฟด์ระเหยในสภาวะกรด (simultaneously-extracted mercury, SE-Hg) ด้วยเทคนิค wetchemical preparation atomic absorption spectrophotometry ปริมาณซัลไฟด์ที่ระเหยในสภาวะกรด (acid volatile sulfide, AVS) ด้วยเทคนิค purge and trap (colorimetry) และปริมาณคาร์บอนอินทรีย์ใน ดินตะกอน (organic carbon, OC) ด้วยเทคนิค Pregl-Dumas ผลการศึกษาพบว่า ค่าเฉลี่ยของปริมาณ OC ในทิศ SW และทิศ NE ของปากแม่น้ำแม่กลอง มีค่าร้อยละ 0.31±0.12 และ 0.59±0.22 ตามลำดับ ค่าเฉลี่ย ของปริมาณ AVS ในทิศ SW และทิศ NE ของปากแม่น้ำแม่กลอง เท่ากับ 21.90±21.32 และ 10.39±10.78 ไมโครกรัมต่อกรัม น้ำหนักแห้ง ปริมาณ T-Hg ตามลำดับชั้นความลึกในดินตะกอนบริเวณดอนหอยหลอด อยู่ ในช่วง 0.013 ถึง 0.11 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม น้ำหนักแห้ง โดยมีค่าเฉลี่ยในทิศ SW และทิศ NE ของปากแม่น้ำ แม่กลอง เท่ากับ 0.027±0.071 และ 0.047±0.024 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม น้ำหนักแห่ง ตามลำดับ ค่าเฉลี่ยของ ปริมาณ SE-Hg ในทิศ SW และทิศ NE ของปากแม่น้ำแม่กลอง เท่ากับ 0.0046±0.0029 และ 0.0024±0.0013 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม น้ำหนักแห่ง ตามลำดับ คิดเป็นร้อยละของปริมาณปรอทรวม เท่ากับร้อยละ 17.0 และ 5.1 ตามลำดับ จากการวิเคราะห์ดัชนีการสะสมเชิงธรณี (Igeo) ของปรอท บ่งชี้ว่าดินตะกอนตามลำดับชั้น ความลึกบริเวณดอนหอยหลอด ปากแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ยังไม่จัดอยู่ในสภาวะที่เรียกว่ามีมลพิษของปรอท