Abstract:
ตัวอย่างปลาทู 109 ตัวอย่างที่จับจากอ่าวไทยด้วยเรือประมงพื้นบ้านและเรือประมงพาณิชย์ในพื้นที่จังหวัดชุมพรและประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 6 มิถุนายน จำนวน 71 ตัว และวันที่ 7 ตุลาคม 2563 จำนวน 38 ตัว นำมาวัดขนาด ชั่งน้ำหนักและแยกชนิดโดยใช้สัดส่วนระหว่างความยาวตรงรอยเว้าครีบหางและความลึกลำตัว ได้เป็นปลาลัง (Restrelliger kanagurtu) จำนวน 96 ตัว และปลาทู (Restrelliger brachysoma) จำนวน 13 ตัว จากนั้นตัดชิ้นส่วนกล้ามเนื้อใต้ครีบหลัง มาสับละเอียดและย่อยด้วยกรดไนตริกและสารละลายโพแทสเซียมเปอร์แมงกาเนต นำไปวิเคราะห์หาความเข้มข้นปรอทด้วยเทคนิค Cold Vapor Atomic Absorption Spectrophotometry (CVAAS) ระดับปรอทในเนื้อเยื่อปลาลังและปลาทูมีค่าความเข้มข้นเฉลี่ยเท่ากับ 0.011±0.007 และ 0.013±0.005 ไมโครกรัม/กรัม นน.เปียก ตามลำดับ และมีช่วงความเข้มข้นของปรอทระหว่าง 0.001-0.022 และ 0.005-0.022 ไมโครกรัม/กรัม นน.เปียก ตามลำดับ จากการวิเคราะห์ทางสถิติไม่พบค่าความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (P>0.05) ระหว่างระดับความเข้มข้นของปรอทกับชนิดของปลาและฤดูกาล แต่พบมีความสัมพันธ์กับความยาวลำตัวปลาและน้ำหนักตัวอย่างปลาทั้งหมดมีค่าความเข้มข้นปรอททั้งหมดไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานปรอทในเนื้อเยื่อปลา ของ Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives (JECFA, 2015) คือมีค่าไม่เกิน 0.5 ไมโครกรัม/กรัม นน.เปียก ทั้งนี้ค่าสัดส่วนความเสี่ยงอันตราย (HQ) มีค่าน้อยกว่า 1 จึงไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพผู้บริโภคปลาทูและลังที่จับจากอ่าวไทยและปริมาณแนะนำสำหรับการบริโภคอย่างปลอดภัยต่อสัปดาห์ สำหรับคนไทยและคนทั่วไปที่มีนำหนักเฉลี่ย 50 และ 60 กิโลกรัมมีค่าเท่ากับ 1.84 และ 2.21 กิโลกรัม ตามลำดับ