Abstract:
ในงานวิจัยนี้ ทางคณะวิจัยได้สังเคราะห์พอลิเมอร์ดูดซึมน้ำมากจากแป้งมันสำปะหลังดัดแปรกราฟต์พอลิโพแทสเซียมอะคริเลต ที่มีความสามารถดูดซึมน้ำได้มาก ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย และย่อยสลายทางชีวภาพได้ โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้ การดัดแปรผิวแป้งมันสำปะหลังด้วยสารดัดแปรซิงก์ออกไซด์/เททระเอทิลออโทซิลิเกต ผ่านปฏิกิริยาโซล-เจลภายใต้ภาวะที่เป็นกรด ณ อุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มความสามารถในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียให้แก่แป้งมันสำปะหลัง ยืนยันโครงสร้างของแป้งมันสำปะหลังดัดแปรด้วยเทคนิคฟูเรียร์ทรานส์ฟอร์มอินฟราเรดสเปกโทรสโกปี การเลี้ยวเบนของรังสีเอกซ์ และนิวเคลียร์แมกเนติกเรโซแนนซ์ของธาตุซิลิกอนในตัวอย่างสถานะของแข็ง วิเคราะห์ลักษณะทางสัณฐานวิทยาของแป้งมันสำปะหลังดัดแปรโดยเทคนิคจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์วิเคราะห์การกระจายสเปกตรัมของธาตุด้วยเอ็กซ์เรย์ และศึกษาองค์ประกอบของสารดัดแปรผิวด้วยเทคนิคเอกซ์เรย์โฟโตอิเล็กทรอนสเปกโทสโกปี แป้งมันสำปะหลังดัดแปรที่ใช้สารดัดแปรในสัดส่วนซิงก์ออกไซด์ร้อยละ 5 โดยน้ำหนัก และเททระเอทิลออโทซิลิเกตร้อยละ 0.5 โดยน้ำหนัก ให้ประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียสูงที่สุด นำแป้งมันสำปะหลังดัดแปรที่ให้ประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียสูงที่สุดมากราฟต์ด้วยสารตั้งต้นโพแทสเซียมอะคริเลต เพื่อสังเคราะห์พอลิเมอร์ดูดซึมน้ำมากผ่านกระบวนการกราฟต์โคพอลิเมอไรเซชัน วิเคราะห์โครงสร้างของพอลิเมอร์ดูดซึมน้ำมากที่ผ่านการกราฟต์ด้วยเทคนิคฟูเรียร์ทรานส์ฟอร์มอินฟราเรดสเปกโทรสโกปี และนิวเคลียร์แมกเนติกเรโซแนนซ์ของธาตุคาร์บอนในตัวอย่างสถานะของแข็ง ศึกษาสมบัติการดูดซึมน้ำ แป้งมันสำปะหลังดัดแปรต่อกรดอะคริมอนอเมอร์ในสัดส่วน 1 ต่อ 3 ให้ค่าการดูดซึมน้ำ 201 ± 4 g g⁻¹ ซึ่งมีค่าใกล้เคียงกับพอลิเมอร์ดูดซึมน้ำมากที่เตรียมจากแป้งมันสาปะหลังกราฟต์ด้วยสารตั้งต้นโพแทสเซียมอะคริเลตให้ค่าดูดซึมน้ำ 185 ± 15 g g⁻¹ แสดงให้เห็นว่า สารดัดแปรบนผิวของแป้งมันสำปะหลังดัดแปรไม่ได้ขัดขวางการดูดซึมน้ำของพอลิเมอร์ดูดซึมน้ำมาก สุดท้าย นำกราฟต์โคพอลิเมอร์ของแป้งมันสำปะหลังดัดแปรกราฟต์พอลิโพแทสเซียมอะคริเลตมาทดสอบการทดสอบการย่อยสลายทางชีวภาพด้วยเอนไซม์ α-อะไมเลส ผลการทดสอบที่ได้ยืนยันได้ว่า สารดัดแปรผิวไม่ขัดขวางการย่อยสลายทางชีวภาพของพอลิเมอร์ดูดซึมน้ำมาก