Abstract:
โรคไข่ลดในเป็ด (duck egg drop syndrome) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ที่พบในเป็ด โดยเป็ดที่ติดเชื้อจะแสดงอาการไข่ลดอย่างรุนแรง และแสดงอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย จัดเป็นโรคที่ทำให้เกิดความเสียหายในอุตสาหกรรมการเลี้ยงเป็ดเป็นอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา โรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อ Tembusu related flavivirus หรือ duck Tembusu virus (DTMUV) จัดอยู่ในสกุล Flavivirus วงศ์ Flaviviridae ในประเทศไทยพบการระบาดของโรคนี้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาลักษณะทางพันธุกรรม และความหลากหลายทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ Tembusu related flavivirus ที่ระบาดในเป็ดในประเทศไทย ดังนั้นการวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมและความหลากหลายทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ Tembusu related flavivirus ในเป็ดในประเทศไทย การวิจัยครั้งนี้ได้ทำการเก็บตัวอย่างจากเป็ดที่แสดงอาการป่วยหรือมีรอยโรคคล้ายคลึงกับการติดเชื้อ Tembusu related flavivirus จำนวนทั้งหมด 86 ตัวอย่าง จากฟาร์มที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดที่มีรายงานการระบาดของโรค Tembusu related flavivirus หรืออยู่ในเขตที่มีการเลี้ยงเป็ดหนาแน่นจำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดในภาคกลาง (นครปฐม เพชรบูรณ์ สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง) ภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และปราจีนบุรี) ภาคตะวันตก (กาญจนบุรี) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครราชสีมา) ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 แล้วนำมาศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของเชื้อที่ระบาดในไทย เปรียบเทียบกับเชื้อที่ระบาดในประเทศอื่นๆ ผลการวิจัยพบว่า สามารถตรวจพบตัวอย่างที่ให้ผลบวกต่อเชื้อ Tembusu related flavivirus จำนวน 30 ตัวอย่าง คิดเป็น 34.88% โดยพบตัวอย่างที่ให้ผลบวกในจังหวัดชลบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สิงห์บุรี และนครราชสีมา นอกจากนี้ยังพบตัวอย่างที่ให้ผลบวกในจังหวัดที่ไม่เคยมีรายงานการระบาดของเชื้อ Tembusu related flavivirus มาก่อน ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา นครปฐม และสิงห์บุรี แสดงให้เห็นว่าเชื้อไวรัสนี้มีการแพร่ระบาดไปในฝูงเป็ดในประเทศไทยเป็นวงกว้างมากขึ้น และกำลังจะกลายเป็นเชื้อประจำถิ่นที่ก่อปัญหาให้กับอุตสาหกรรมการเลี้ยงเป็ดในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในอนาคต นอกจากนี้จากผลการศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของเชื้อ Tembusu related flavivirus ที่ระบาดในประเทศไทย พบว่าเชื้อไวรัสที่แยกได้จากการศึกษานี้จัดอยู่ใน subcluster 2.1 ซึ่งเป็น subcluster เดียวกับเชื้อไวรัสที่ระบาดในประเทศไทยในปีพ.ศ. 2556 และในประเทศจีน แต่เป็นคนละ cluster กับเชื้อไวรัสที่ระบาดในประเทศไทยในปีพ.ศ. 2550 ซึ่งจัดอยู่ใน cluster 1 นอกจากนี้ยังพบว่าลักษณะทางพันธุกรรมของเชื้อ Tembusu related flavivirus ที่แยกได้จากการศึกษานี้มีความคล้ายกันเองมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อที่มีการระบาดในปีพ.ศ. 2556 โดยสรุปจากผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าเชื้อ Tembusu related flavivirus ที่ระบาดในประเทศไทยมีความหลากหลาย รวมถึงมีการปรับตัว และวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการอุบัติของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่อาจมีความรุนแรงในการก่อโรคมากขึ้น อาจก่อให้เกิดการระบาดของไวรัสนี้อย่างต่อเนื่องในอนาคต ดังนั้นจึงควรมีการเฝ้าระวังและทำสำรวจการติดเชื้อTembusu related flavivirus ในเป็ด รวมถึงในสัตว์ปีกอื่นๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการลดโอกาสการเกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มีความรุนแรง และใช้เป็นข้อมูลประกอบในการวางแผนควบคุมและป้องกันโรคต่อไป