Abstract:
โรคลมชักเป็นโรคทางระบบประสาทที่เกิดจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมอง ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อครอบครัวและสังคมรวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน เนื่องจากเมื่อผู้ป่วยมีอาการชัก ร่างกายเกร็งกระตุกไม่สามารถควบคุมร่างกายได้ภายใต้อำนาจจิตใจได้ ปัจจุบันมีวิธีวินิจฉัยและรักษาโรคลมชักโดยแพทย์จะทำการตรวจภาพสมองด้วยสเปกเพื่อพิจารณาจุดกำเนิดชัก ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการฉีดสารเภสัชรังสี 99mTc-ECD เพื่อให้สาร 99mTc-ECD ดูดซึมในสมองและสามารถถ่ายภาพสเปกเพื่อพิจารณาจุดกำเนิดชักได้ ในการศึกษาวิจัยนี้จึงได้ทำการพัฒนาแบบจำลองเภสัชจลนศาสตร์ของการดูดซึมสาร 99mTc-ECD ในสมองตามช่วงการดูดซึมของผู้ป่วยโรคลมชัก โดยทำการเก็บข้อมูลของผู้ป่วยโรคลมชักจากภาพถ่ายการตรวจภาพสมองด้วยสเปก 99mTc-ECD จำนวน 15 ราย จากนั้นทำการปรับค่าพารามิเตอร์ของแบบจำลองจลนศาสตร์และใช้ระเบียบเชิงตัวเลขในการหาคำตอบของแบบจำลอง เพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลภาพถ่ายสเปคและพิจารณาค่าคลาดเคลื่อนสัมพัทธ์ ทำให้ได้ค่าพารามิเตอร์ที่เหมาะสมของผู้ป่วยโรคลมชัก จากผลการวิจัยพบว่าเนื้อสมองของผู้ป่วยโรคลมชักมีปริมาณการจับสาร 99mTc-ECD เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 38.5884 MBq ทำให้ค่าพารามิเตอร์ที่สำคัญทำให้ค่าพารามิเตอร์เฉลี่ยของแบบจำลองจลนศาสตร์การดูดซึมสาร 99mTc-ECD ในสมองตามช่วงเวลาการดูดซึมของผู้ป่วยโรคลมชักดังนี้ kinject = 0.089±0.0555, K₁ = 0.25±0.0732, k₂= 0.24±0.0229, k₃ = 0.53±0.0254, k₄= 0 และ kout= 0.00688±0.0055 ซึ่งค่าพารามิเตอร์เหล่านี้สามารถอธิบายจลนศาสตร์การดูดซึมสาร 99mTc-ECD ในสมองของผู้ป่วยโรคลมชักได้ และยังเป็นแนวในการศึกษาพัฒนาเพื่อให้แพทย์สามารถระบุจุดกำเนิดชักได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น