Abstract:
งานวิจัยด้านอรรถศาสตร์ปริชานที่ศึกษาคำหลายความหมายที่ผ่านมามักกล่าวถึงกระบวนการทางปริชานที่เกี่ยวข้องกับการขยายความหมาย งานส่วนใหญ่ศึกษาความหมายของคำที่เป็นคำเดี่ยว งานวิจัยที่ศึกษาคำเรียกญาติในภาษาไทยและภาษาถิ่นให้ข้อสังเกตว่า แม่ มักมีการใช้เชิงเปรียบเทียบ ในงานวิจัยนี้ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาความหมายของ แม่ ในคำประสมภาษาไทยถิ่นใต้ซึ่งเป็นคำหลายความหมาย เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างความหมายของ แม่ ในคำประถมกับความหมายของ แม่ ที่เป็นคำมูล และวิเคราะห์กระบวนการทางปริชานที่เกี่ยวข้องกับการขยายความหมาย โดยเก็บข้อมูลคำประสมที่มีคำว่า แม่ เป็นส่วนประกอบจำนวน 180 คำ จากพจนานุกรม จำนวน 4 เล่ม และสัมภาษณ์ผู้บอกภาษาถิ่นใต้จำนวน 6 คน ผลการศึกษาพบว่า แม่ ในคำประสมภาษาไทยถิ่นใต้เป็นคำหลายความหมาย สามารถจัดความหมายที่ใกล้ชิดกันอยู่ในกลุ่มความหมายเดียวกันได้เป็น 12 กลุ่ม และจำแนกความหมายโดยละเอียดได้ 23 ความหมาย จำแนกเป็นความหมายพื้นฐาน 1 ความหมาย คือ ‘ผู้หญิงที่ให้กำเนิดลูก’ และความหมายขยายออกอีก 22 ความหมาย ความหมายขยายออกสามารถจัดกลุ่มตามลักษณะการขยายความหมายได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มความหมายที่มีการขยายความหมาย 1 ชั้น และกลุ่มความหมายที่มีการขยายความหมายมากกว่า 1 ชั้น การจำแนกความหมายโดยละเอียดทำให้เห็นรอยต่อที่จะสามารถเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความหมายที่ห่างไกลกันได้ กระบวนการทางปริชานที่เกี่ยวข้องกับการขยายความหมายของ แม่ ในคำประสมภาษาไทยถิ่นใต้มี 3 กระบวนการ ได้แก่ กระบวนการนามนัยซึ่งพบมากที่สุด กระบวนการอุปลักษณ์-นามนัยซึ่งพบมากรองลงมา และกระบวนการอุปลักษณ์ซึ่งพบน้อยที่สุดตามลำดับ