Abstract:
ปากแม่น้ำปราณบุรีตั้งอยู่ทางตะวันตกของอ่าวไทย ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม 2 ฤดู คือ ฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ และฤดูลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ซึ่งในช่วงฤดูมรสุมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงธรณีสัณฐานชายฝั่งได้ นอกจากนี้ยังพบโครงสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ (Jetties) บริเวณปากแม่น้ำและเขื่อนกันคลื่น (Breakwater) บริเวณตอนเหนือปากแม่น้ำปราณบุรีอีกด้วย ซึ่งโครงสร้างทั้ง 2 อาจส่งผลทำให้ทิศทางการไหลของกระแสน้ำ อัตราการกัดเซาะและการสะสมของตะกอนเปลี่ยนแปลงในการวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของระดับความลาดชันของชายหาดและพื้นท้องน้ำตามฤดูกาลบริเวณตอนเหนือของปากแม่น้ำปราณบุรี โดยการสำรวจความลาดชันชายหาดและความลึกพื้นท้องน้ำใน 2 ฤดู คือฤดูลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (เดือนกันยายน พ.ศ. 2563) และฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564) พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างตะกอนเพื่อวิเคราะห์ขนาดอนุภาคตะกอนของพื้นที่ดังกล่าว จากการศึกษาขนาดตะกอนพบว่าตะกอนขนาด 0.125 มิลลิเมตร เป็นชนิดเด่นในทั้ง 2 ฤดู โดยรวมความลึกพื้นท้องน้ำจากฤดูลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ถึงฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าเพิ่มขึ้น (เกิดการกัดเซาะ) ยกเว้นบริเวณแนวด้านหลังของเขื่อนกันคลื่นมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างต่ำ และผลจากการศึกษาความลาดชันชายหาดจากฤดูลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ถึงฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ โดยรวมพบการทับถมของตะพาน ซึ่งอาจถูกพัดพาโดย Longshore transport จากทางตอนเหนือของพื้นที่ จากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงความลาดชันและความลึกพื้นท้องน้ำในครั้งนี้พบว่ามีผลไปในทางตรงกันข้าม ตามทฤษฎีในช่วงฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือควรพบการทับถมของตะกอนมากกว่าการกัดเซาะ แต่ในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงพื้นท้องน้ำพบการกัดเซาะจากข้อมูล ซึ่งความแตกต่างนี้อาจเป็นผลมาจากข้อมูลระดับน้ำอ้างอิงที่ใช้ในการคำนวณค่าความลึกน้ำมีความคลาดเคลื่อน อีกทั้งในพื้นที่ดังกล่าวยังมีความซับซ้อนของลักษณะพื้นท้องน้ำที่ได้รับอิทธิพลจากเขื่อนกันคลื่น 3 ตัว