Abstract:
คลอโรฟิลล์เอ (chlorophyll a) เป็นรงควัตถุในคลอโรพลาสท์ที่พบในแพลงก์ตอนพืชทุกชนิด ทั้งในน้ำจืดและน้ำทะเล โดยมีบทบาทสัญเป็นอย่างยิ่งในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง คลอโรฟิลล์เอทำหน้าที่หลักในการกักเก็บแสง และการแปลงพลังงานโฟตอนที่ดูดซับไปเป็นพลังงานเคมี การศึกษานี้ได้ทำการทดลองเปรียบเทียบวิธีวิเคราะห์ปริมาณคลอโรฟิลล์เอในเทคนิคสเปกโตรโฟโตเมทรีและเทคนิคฟลูออโรเมทรี โดยใช้สารมาตรฐานคลอโรพิลล์เอ แพลงก์ตอนพืชชนิด Chattonella subsalsa ที่เพราะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ ที่มีอายุเซลล์ต่างกัน เพื่อเป็นตัวแทนของตัวอย่างที่มีทั้งคลอโรฟิลล์เอและคลอโรฟิลล์เอที่สลายตัว (phaeopigment) และตัวอย่างน้ำบ่อบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นตัวแทนของน้ำตัวอย่างในธรรมชาติ จากนั้นนำไปวิเคราะห์หาปริมาณคลอโรฟิลล์เอ จากกราฟมาตรฐานและการคำนวณจากสูตรคำนวณต่าง ๆ ของ (1) เทคนิคสเปกโตรโฟโตเมทรี ซึ่งประกอบด้วยหกสมการ คือ สมการที่ 1-3 ของ Parsons and Strickland (1963) สมการที่ 4 ของ Arnon (1949) สมการที่ 5 ของ Axler and Owen (1994) และสมการที่ 6 ของ Lorenzen (1967) และ (2) เทคนิคฟลูออโรเมทรีหนึ่งสมการ คือ สมการของ Knapet al. (1996) จากการทดลองพบว่า การวิเคราะห์ปริมาณคลอโรฟิลล์เอจากกราฟมาตรฐานและสมการต่าง ๆ ของเทคนิคสเปกโตรโฟโตเมทรี ทุกวิธีมีค่าคลาดเคลื่อนทางบวก เมื่อเทียบกับกราฟมาตรฐานของเทคนิคฟลูออโรเมทรี นอกจากนั้นยังพบว่า เมื่อเทียบค่าการดูดกลืนแสงที่ความยาวคลื่น 432 และ 664 นาโนเมตร พบว่า ความยาวคลื่น 432 นาโนเมตร มีความชันที่ใกล้เคียงกับกราฟมาตรฐานของเทคนิคฟลูออโรเมทรีมากกว่าความยาวคลื่น 664 นาโนเมตร นอกจากนี้ หากไม่สามารถวิเคราะห์ปริมาณคลอโรฟิลล์เอจากกราฟมาตรฐานด้วยเทคนิคฟลูออโรเมทรีและเทคนิคโครมาโทรกราฟีเหลวสมรรถนะสูง (HPLC) ผู้วิจัยขอแนะนำให้วิเคราะห์ค่าโดยใช้สูตรUNESCO (Stickland & Parsons, 1963) ของเทคนิคสเปกโตรโฟโตเมทรี เพราะให้ค่าที่ใกล้เคียงกับกราฟมาตรฐานของเทคนิคฟลูออโรเมทรี โดยมีความคลาดเคลื่อนทางบวก 55 เปอร์เซ็นต์