Abstract:
ปากแม่น้ำปราณบุรีมีโครงสร้างป้องกันการทับถมตะกอนในแนวร่องน้ำจากอิทธิพลของคลื่น เรียกว่า เขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ (Jetties) ซึ่งเป็นโครงสร้างมีผลต่อทิศทางการเคลื่อนที่ของตะกอนในพื้นที่ ใกล้เคียง ในการศึกษาครั้งนี้มี วัตถุประสงค์เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงความลาดชันชายหาด และความลึกพื้น ท้องน้ำ หลังช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณตอนใต้ของปากแม่น้ำปราณบุรี โดยทำการออกภาคสนาม 2 ครั้ง ในเดือนกันยายน 2563 (ฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้) และกุมภาพันธ์ 2564 (ฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ) โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ส่วน คือ การวัดระดับของชายหาด (Beach Profile) การวัดความลึกพื้นท้องน้ำ และการหาขนาดของตะกอน จากการศึกษาพบว่าความลาดชันของชายหาดบริเวณใกล้กับเขื่อนกันทรายและ คลื่นปากร่องน้ำมีการกัดเซาะของชายหาดและเริ่มสะสมตัวเมื่อห่างออกไปทางใต้ของชายหาด ซึ่งเกิดจาก อิทธิพลของลมฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่ทำให้กระแสน้ำพัดพาตะกอนจากทางเหนือลงมาทางใต้ สอดคล้องกับการศึกษาขนาดตะกอนโดยเก็บตัวอย่างตะกอนทรายนำมาวิเคราะห์ด้วยวิธี Sieve Grain Size Analysis ที่พบว่าในบริเวณดังกล่าวขนาดตะกอนที่เด่นมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.25 มิลลิเมตร ในทั้ง 2 ฤดู แต่ใน ฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือตะกอนมีปริมาณลดลงในบริเวณที่ติดเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ และมี ปริมาณเพิ่มขึ้นห่างจากแนวเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำลงมาทางใต้ของหาด ส่วนผลจากการศึกษา ความลึกพื้นท้องน้ำ (Bathymetry) พบว่าหลังฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พื้นท้องน้ำมีแนวโน้มถูกกัดเซาะ สอดคล้องกับผลการศึกษาการวัดระดับของชายหาด