Abstract:
ปลาตับเต่า เป็นชื่อสามัญที่เรียกกันทั่วไปในไทยของกลุ่มปลาในวงศ์ Hemiramphidae และ Zenarchopteridae ปลากลุ่มนี้มีลักษณะเด่นคือขากรรไกรล่างยาวกว่าขากรรไกรบน ชนิดที่นำมาศึกษาคือ Zenarchopterus dunckeri (Mohr, 1926) เป็นชนิดที่พบมากบริเวณปากแม่น้ำปราณบุรี จากการศึกษาในปลาสกุลเดียวกันพบว่า มีพฤติกรรมว่ายอยู่ผิวน้ำเป็นฝูงและมีพฤติกรรมการกินที่คล้ายกัน คือการล่าเหยื่อขนาดเล็กที่อยู่บริเวณผิวน้ำ หรือเหนือน้ำ ซึ่งมักเป็นแมลง ตัวอ่อนแมลง แมลงบินได้ที่ตกลงมาบนผิวน้ำหรืออยู่ใกล้ผิวน้ำ จากการศึกษานิเวศวิทยาการกินอาหารระหว่างฤดูหนาว (พ.ย.-ม.ค. 2559-2560) และฤดูฝน (ก.ค.-ก.ย. 2560) ของปลาตับเต่า (Zenarchopterus dunckeri (Mohr, 1926)) บริเวณปากแม่น้ำปราณบุรี พบว่าฤดูหนาวและฤดูฝนเก็บตัวอย่างปลาตับเต่าได้ 48 ตัว และ 84 ตัว ตามลำดับ และกลุ่มตัวอย่างฤดูหนาวมีสัดส่วนของประชากรที่พบอาหารในทางเดินอาหาร 89.58% ขณะที่กลุ่มตัวอย่างฤดูฝนมีสัดส่วนนี้เพียง 52.38% อาหารเด่นที่พบในทางเดินอาหาร ได้แก่ กลุ่มแมลง (Class insect) เศษซากแมลง และซากที่ระบุไม่ได้ แต่มีความหลากหลายของชนิดแมลงที่กินอย่างสุ่ม บ่งชี้ว่าปลาตับเต่ามีความจำเพาะต่ออาหารกลุ่มแมลงแต่ไม่จำเพาะต่อชนิดของแมลง สอดคล้องกับข้อมูลเบื้องต้นและค่าความยาวทางเดินอาหารสัมพัทธ์ (RGL) ของกลุ่มตัวอย่างปลาตับเต่าฤดูหนาวและฤดูฝนมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.35±0.05 และ 0.37±0.05 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาร่วมกับเกณฑ์จำแนกกลุ่มปลาตามค่า RGL และลักษณะทางเดินอาหารที่ตรง จึงสรุปได้ว่า ปลาตับเต่าชนิดนี้เป็นกลุ่มปลากินเนื้อ (Carnivorous) เมื่อวิเคราะห์ (Stomach content analysis) ค่า %IRI เปอร์เซ็นต์ ดัชนีความสำคัญสัมพัทธ์ของอาหารแต่ละชนิดต่อปลาตับเต่า พบว่า %IRI ของฤดูหนาว ได้แก่ กลุ่มแมลง 25.94% เศษซากแมลง 73.98% และอื่น ๆ 0.07% ขณะที่ %IRI ของฤดูฝน ได้แก่ กลุ่มแมลง 32.71% เศษซากแมลง 1.10% และซากที่ระบุไม่ได้ 66.19%