Abstract:
การศึกษาได้ทำไมโครพลาสติกจำลองจากเศษขยะพลาสติกที่พบในธรรมชาติที่เก็บจากบริเวณหาดหน้าสถานีวิจัยสัตว์ทะเลอ่างศิลาประเภทพอลิสไตรีน โดยการนำขยะพลาสติกไปทำการบดด้วยเครื่องบดพลาสติกจนได้ไมโครพลาสติกจำลอง และทำการแยกขนาดไมโครพลาสติกด้วยวิธีการร่อนด้วยตะแกรงจำนวน 3 ขนาด เพื่อทำการทดลองผลกระทบของไมโครพลาสติกประเภทพอลิสไตรีนต่ออัตราการตายครึ่งหนึ่งของประชากร (LC₅₀) และการสะสมในหอยนางรมปากจีบ (Saccostrea forskalii) โดยให้ไมโครพลาสติกจำลองจากธรรมชาติแตกต่างกัน 3 ขนาดได้แก่ <30 µm, 30-300 µm, และ 300-1000 µm และ 3 ความเข้มข้นได้แก่ 66 ชิ้น/ลิตร, 333 ชิ้น/ลิตร, และ 666 ชิ้น/ลิตร ผสมกับแพลงก์ตอนพืช Isochrysis galbana เป็นอาหารแก่หอยนางรม โดยแบ่งการทดลองออกเป็น 2 การทดลอง การทดลองที่ 1 ทำการทดลองผลของไมโครพลาสติกต่อการตายของหอยหลังได้รับไมโครพลาสติกเป็นระยะเวลา 96 ชั่วโมง โดยสังเกตการตายในชั่วโมงที่ 0, 12, 24, 48, 72, และ 96 ชั่วโมง พบว่าในระยะเวลา 96 ชั่วโมงไม่พบการตายของหอยในทั้ง 3 ขนาด และ 3 เข้มข้น การทดลองที่ 2 ทำการวิเคราะห์การสะสมไมโครพลาสติกทั้งส่วนภายในและภายนอกของเนื้อเยื่อตัวอย่างหอย ซึ่งทำการสุ่มเก็บตัวอย่างระหว่างการทดลองตามช่วงเวลาในการทดลองที่ 1 พบว่าการสะสมของไมโครพลาสติกเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาที่เพิ่มขึ้น โดยขนาดและความเข้มข้นของไมโครพลาสติกที่มากกว่าส่งผลให้พบการสะสมของไมโครพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยพบการสะสมของไมโครพลาสติกที่มากที่สุดมาจากชั่วโมงที่ 96 ที่ความเข้มข้นที่ 666 ชิ้น/ลิตร ของไมโครพลาสติกทั้ง 3 ขนาด <30 µm, 30-300 µm, และ 300-1000 µm ที่ 268, 314, และ 322 ชิ้น/ตัวหอย ตามลำดับ